Admin 31 ก.ค. 2567

จันทบุรี-ตราด วิกฤติ ฝนถล่มติดต่อ ติดธงแดงเตือนภัย "ธรรมนัส" ขู่ฟัน จนท. (คลิป)

2024-07-31_10-49-30

“จันทบุรี-ตราด” ยังจมบาดาล ติดธงแดงแม่น้ำจันทบุรีจ่อล้นทะลักเข้าตัวเมือง ขณะที่อำเภอรอบนอกเริ่มคลี่คลาย พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 4 หมื่นไร่ ส่วนตราดวิกฤติหนักที่เขาสมิง ถนนหลายสายถูกตัดขาด ฝนตกต่อเนื่องแถมน้ำทะเลหนุนสูงจนระบายไม่ทัน “ธรรมนัส” ลงพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ 2 จังหวัด เน้นย้ำกรมชลประทานถอดบทเรียนบริหารจัดการน้ำ ชงทุ่มงบ 200 ล้านบาท สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่ม รับได้อีก 50 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ที่มีอยู่แล้ว 7 อ่างเอาไม่อยู่ ส่วน จ.ระยอง ฝนเทกระหน่ำทั้งคืนจนน้ำท่วมถนนหลายสาย นายกฯเกาะติดสถานการณ์ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที

สถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ จ.ตราด และ จ.จันทบุรี ยังวิกฤติหนัก เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 29 ก.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่หมู่ 4 บ้านนาไทร ต.ปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี มีนายมนต์สิทธิ์ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.จันทบุรี นำส่วนราชการต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วม น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.จันทบุรี ติดธงแดงที่แม่น้ำจันทบุรี บนสะพานวัดจันทนาราม อ.เมืองจันทบุรี เตือนประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังยกของขึ้นที่สูง ขณะที่มวลน้ำเริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางส่วนแล้ว อาทิ บ้านลุ่ม หัวแหลม พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองฝั่งจันทนิมิต คลองขี้หนอน ส่วนพื้นที่ด้านนอก อ.ขลุง อ.มะขาม อ.เขาคิชฌกูฏ อ.นายายอาม และ อ.ท่าใหม่ มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำและสวนผลไม้ได้รับความเสียหาย ทางจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบจ.ท้องถิ่น ท้องที่ อาสาสมัครกู้ภัยสว่างกตัญญู ทหาร ตำรวจ เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สร้างความปลอดภัย และความมั่นใจแก่ประชาชน

สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.จันทบุรี ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมและร่องฝนจากความกดอากาศต่ำที่พัดพาด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค.เป็นต้นมา เกิดฝนตกหนักช่วงวันที่ 21-24 ก.ค. มีพื้นที่ประสบภัย 4 อำเภอ คือ อ.มะขาม อ.ขลุง อ.เขาคิชฌกูฏ และ อ.เมืองจันทบุรี ส่งผลกระทบต่อประชาชน 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน 578 ครัวเรือน 1,841 ราย ถนนชำรุด 1 เส้น ฝายน้ำล้น 1 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตรกว่า 26,000 ไร่ มีทุเรียนโค่นล้มกว่า 300 ต้น ต่อมาวันที่ 27-28 ก.ค. เกิดฝนตกหนักอีกรอบได้รับผลกระทบในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.มะขาม อ.เมืองจันทบุรี อ.ขลุง และ อ.โป่งน้ำร้อน รวม 16 ตำบล 74 หมู่บ้าน 7 ชุมชน 3,397 ครัวเรือน 9,130 ราย พื้นที่ทางการเกษตร 41,222 ไร่ ล่าสุดสถานการณ์รอบนอกเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในหลายพื้นที่

ร.อ.ธรรมนัสเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.จันทบุรี ตามที่ได้รับรายงานจาก ผอ.ชลประทาน จ.ตราด ถ้าฝนไม่ตกมาเพิ่มน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ เน้นย้ำสั่งการให้รองอธิบดีกรมชลประทาน กำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำของ 2 จังหวัด ให้ถอดบทเรียนจาก จ.ตราด ที่มีปัญหาในระบบการแก้ไขป้องกันสถานการณ์น้ำ ที่ผ่านมากำชับให้รองอธิบดีกำกับดูแลพื้นที่อย่างเอาจริงเอาจังและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำช่วงนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนที่น้ำท่วมแล้วหลายๆพื้นที่ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ออกสำรวจความเสียหายทั้งพืชไร่ พืชสวน ประมง ปศุสัตว์ เพื่อจะเข้าเยียวยาดูแลอย่างทั่วถึง ส่วนเรื่องถนนที่ขวางทางเดินของน้ำจะรีบหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อแก้ไขโดยเร่งด่วน

ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวสั่งย้ายชลประทาน จ.ตราด ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนไต่สวนว่าได้ผลประการใด มีบางท่านถูกย้ายไปแล้วเพราะฉะนั้นในข้อหาที่จะเป็นความผิดที่เจตนาหรือไม่เจตนา แต่ความรู้สึกเกิดความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ต้องมีการลงโทษตามขั้นตอนต่อไป

จากนั้น ร.อ.ธรรมนัสนำคณะเดินทางต่อไปยังที่ทำการ อบต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด มอบถุงยังชีพและหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จ.ตราด ถือเป็นจังหวัดที่น้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ อีกทั้งปีนี้ปริมาณฝนตกลงมามากทำให้ระบายน้ำออกไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อ.เขาสมิง ถือเป็นวิกฤติหนัก ถนนหลายสายถูกตัดขาด การสัญจรลำบาก ผวจ.ตราด ตลอดจนผู้นำทุกพื้นที่ร่วมมือกันช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ ส่วนกระทรวงเกษตรฯ โดยกรม ชลประทาน สั่งให้อธิบดีกรมชลประทานลงมาในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.ค.เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะแก้ไขปัญหาทันท่วงที

“สิ่งที่มาวันนี้ผมไม่อยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำซาก การมาแจกถุงยังชีพและอาหารกล่อง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดใหญ่อีกหลายอ่าง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ ที่คิดกันมา 25 ปีแล้ว ปีนี้กรมชลประทานได้ตั้งงบฯเสนอสภาสำหรับโครงการนี้ 200 ล้านบาท หากเรียบร้อยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 จะต้องประสานขอใช้พื้นที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญผมจะไปขับเคลื่อนเอาจริงเอาจัง ได้หารือกับ ผวจ.ตราด และ สส.จะขับเคลื่อนขอใช้พื้นที่แล้วประมาณ 5 พันไร่ หากดำเนินการเสร็จแล้วจะสามารถเก็บน้ำได้อีก 50 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นจำนวนมาก เวลาฝนตกหนักยังมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ ขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำที่สร้างไว้แล้ว 7 แห่ง มีปริมาณเต็มแล้ว 4 แห่ง เหลืออีก 3 แห่งกำลังจะล้นสปิลเวย์ เราต้องบริหารจัดการให้ได้ หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราดได้” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.ตราด ยังวิกฤติหนักที่ อ.เขาสมิง ระดับน้ำในแม่น้ำเขาสมิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนหลังวัดท่ากระท้อน ชุมชนท่าน้ำเขาสมิง ต.เขาสมิง ระดับน้ำสูงร่วม 1 เมตร มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 500 หลังคาเรือน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเขาสมิง และหน่วยกู้ชีพกู้ภัยระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านภายในชุมชน ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่รับมวลน้ำที่มาจาก ต.สะตอ ประกอบกับยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า ทีมกู้ภัยจากหลายจังหวัดนำเรือเข้าไปแจกจ่ายน้ำดื่มและอาหารให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสูง พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมใน อ.เขาสมิง ยังวิกฤติหนัก 3 ตำบลคือ ต.เขาสมิง ต.สะตอ และ ต.เทพนิมิตร จ.ระยอง ฝนตกหนักทั้งคืน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังถนนหลายสาย โดยเฉพาะถนนสาย 3143 บ้านค่าย-นิคมพัฒนา ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย น้ำท่วมสูงระยะทางกว่า 500 เมตร รถเก๋งรถกระบะวิ่งผ่านจุดที่ลึกที่สุดน้ำท่วมถึงครึ่งคัน ส่วนรถ จยย.หลายคันเครื่องยนต์ดับ ต้องจูงรถเดินลุยน้ำกันทุลักทุเล ขณะที่บ้านเรือนร้านค้าตามสองข้างทางที่ถูกน้ำท่วม เจ้าของบ้านต้องหาก้อนหินวางเป็นแนวกันคลื่น บางบ้านวางแผนรับมือก่อกำแพงกันน้ำไว้ก่อนแล้วจึงป้องกันน้ำทะลักเข้าบ้านได้ นายประจวบ แซ่ลิ้ม อายุ 54 ปี ชาวบ้านเผย น้ำเริ่มมาตั้งแต่เช้าแล้วไหลเพิ่มมาเรื่อยๆจนท่วมถนนเข้าบ้าน สาเหตุจากฝนตกหนักตลอดทั้งคืนจนถึงเช้า ปกติตรงนี้น้ำจะท่วมเป็นประจำแต่ไม่นานก็ลด รอบนี้น้ำมาเยอะผ่านมาเป็นชั่วโมงยังไม่มีทีท่าว่าจะลด

นายอัธยา นวลอุทัย ปภ.ระยอง เผยว่า เมื่อเวลา 04.00 น. เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมถนนหลายสาย ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง บริเวณทางลอดสะพานต่างระดับเนินสำลี น้ำท่วมสูงประมาณ 20 ซม. ที่ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง น้ำท่วมถนนสาย 36 หน้าบริษัทไทยวัฒน์ ที่ ต.กองดิน อ.แกลง บริเวณถนนสุขุมวิท บริเวณโค้งโรงน้ำยาง น้ำท่วมสูง 20-30 ซม. ส่วน อ.บ้านค่าย ถนนสาย 3143 บริเวณหน้า อบต.หนองละลอก มีน้ำท่วมขังเฉลี่ย 30 ซม.ระยะทาง 500 เมตร สำนักงาน ปภ.ระยอง ประสานหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

ช่วงเย็นวันเดียวกัน ในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักนานกว่า 1 ชม. เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังผิวการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณใต้ทางด่วนแจ้งวัฒนะทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก มีน้ำท่วมสูง ทางด่วนลงแจ้งวัฒนะฝั่งขาออกน้ำท่วมมิดฟุตปาท ระดับน้ำสูงราว 15-20 ซม. รถยนต์สัญจรด้วยความลำบาก ใช้ช่องทางขวาสุดได้เพียงช่องทางเดียว ส่งผลให้การจราจรติดขัดสะสมต่อเนื่องตั้งแต่บนทางด่วน รถยนต์ทั้งทางตรงและที่ลงมาจากทางด่วนมุ่งหน้าแยกเมืองทองธานี เคลื่อนตัวช้าสลับหยุดนิ่งเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร พ.ต.ต.ฐาปนพงษ์ พึ่งมี สว.จร.สภ.ปากเกร็ด สั่งการให้ตำรวจจราจรออกอำนวยความสะดวกและเร่งระบายรถในจุดตัดทางแยก ขณะที่แขวงการทางนนทบุรี เร่งสูบน้ำระบายออกจากผิวการจราจรแล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หลายวันนี้ฝนตกติดต่อกันทำให้หลายพื้นที่มีน้ำหลาก ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องขอขอบคุณกองทัพ ตำรวจ และทุกคนในพื้นที่ที่เร่งช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนขนย้ายสิ่งของ แจกจ่ายอาหาร และถุงยังชีพ และพื้นที่ อ.คลองใหญ่ เข้าดำเนินการตัดและเคลื่อนย้ายต้นมะพร้าว เพื่อนำไปทำหลักผูกเรือในพื้นที่ประสบภัยจากเหตุฝนตกหนักและพายุลมแรง ยังเป็นการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูท่าเรือในพื้นที่บ้านคลองมะขาม ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป ขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ยังคงติดตามเฝ้าระวัง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์