Admin 6 พ.ย. 2566

ตื่นตาตื่นใจ "ฝูงโลมา" โผล่ว่ายน้ำอวดโฉม ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเลไทย

นักอนุรักษ์ตื่นเต้นพบฝูง "โลมาปากขวด" ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวบริเวณ อ.เกาะกูด จ.ตราด ก็ได้พบกับ "โลมาอิรวดี" กว่า 10 ตัว

2023-11-06_15-13-47

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ฝูงโลมาปากขวดว่ายน้ำอวดโฉมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา พร้อมระบุข้อความว่า โลมาปากขวด มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2562 โลมาชอบว่ายน้ำแข่งกับเรือเดินทะเล ปกติรวมฝูงประมาณ 20 ตัว บางครั้งพบมากกว่านั้น โลมาจะว่ายน้ำเอียงตัวและตีครีบข้าง

สำหรับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กำหนดปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี และเปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 30 เมษายน ของทุกปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดการท่องเที่ยวประจำปี ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีป่า สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่าที่ อ.เกาะกูด จ.ตราด นักท่องเที่ยวก็ได้พบกับฝูงโลมาเช่นเดียวกัน ก่อนจะแชร์คลิปในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นโลมาอิรวดีนับ 10 ตัว ที่กำลังว่ายน้ำอยู่ระหว่างเกาะแรดกับเกาะรัง อ.เกาะกูด จ.ตราด สร้างความประทับใจให้กับคนบนเรือเป็นอย่างมาก

นายปุริมปรัชญ์ ขวัญกล้า อายุ 28 ปี ผู้ถ่ายคลิปเผยว่า ขณะที่ตนนั่งเรือออกจากเกาะแรด มุ่งหน้าไปดำน้ำที่เกาะรัง ก็มีฝูงโลมาอิรวดีนับ 10 ตัว ว่ายมาใกล้เรือ และกระโดดอวดโฉมอยู่นานกว่า 15 นาที จนตนและนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ บนเรือต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพไว้ทุกๆ ปี

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน บริเวณทะเลตราด ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งปะการังหรือพืชทะเล จะมีโลมาอิรวดีพันธุ์หัวบาตร ออกมาหากินปลาทู หรือไม่ก็เป็นพวกปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุกทะเล หมึก และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ ซึ่งโลมาอิรวดีสามารถอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานถึง 70–150 วินาที แล้วจะโผล่ขึ้นมาหายใจสลับกัน นับเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยว จะสามารถเห็นตัวโลมาได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ โลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง เป็นโลมาชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร พบกระจายอย่างกว้างขวางในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล และในบริเวณปากน้ำ และแม่น้ำบางส่วนของอ่าวเบงกอล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีขนาดประมาณ 180–275 เซนติเมตร น้ำหนัก 3.21 กิโลกรัม ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9 เดือน

ที่มา: ไทยรัฐ