Admin
29 ส.ค. 2566
สนข.ลุยศึกษาถนนเลียบทะเลฝั่งอันดามัน "ระนอง-สตูล" วางแนวเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวผุดแลนด์มาร์กใหม่ 6 จังหวัด
สนข.เตรียมจ้างสำรวจออกแบบถนนเลียบทะเลใต้ฝั่งอันดามัน “ระนอง-สตูล” กว่า 600 กม. งบ 80 ล้านบาท ศึกษา 18 เดือน วางแนวเส้นทางเลียบทะเล 6 จังหวัด "ระนอง พังงา
ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล" เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาจุดท่องเที่ยวใหม่ เพิ่มจุดขายสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่และประเทศ
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างสรุปผลการประกวดราคาจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น และออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามันช่วง จังหวัดระนอง - จังหวัดสตูล โดยวิธีการคัดเลือก ราคากลาง 80.671 ล้านบาท โดยมีผู้ยื่นเสนอราคา 2 ราย คาดจะสามารถลงนามสัญญาจ้างได้ภายในเดือน ส.ค. 2566 เริ่มศึกษาต้นเดือน ก.ย. 2566 ระยะเวลาศึกษา 540 วัน (18 เดือน)
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะทาง 600 กม. มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเส้นทางถนนเลียบทะเลฝั่งอันดามันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ดังนั้น ต้องวางแนวใกล้หรือเลียบทะเลให้มีจุดขายด้านการท่องเที่ยว และเป็นเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นใหม่ มีมาตรฐาน สะดวก ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวของประเทศและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่
โดยที่ปรึกษาจะลงพื้นที่ประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ศึกษาโครงการ
“หลังการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จ จะเสนอกระทวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะมีการพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการพัฒนาต่อไป รูปแบบจะคล้ายกับที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีการพัฒนาเส้นทางถนนเลียบทะเลฝั่งอ่าวไทยฝนปัจจุบัน” ผอ.สนข. กล่าว
สนข.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 16.15 ล้านบาท และงบประมาณปี 2567 จำนวน 64.60 ล้านบาท ในการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (ช่วงจังหวัดระนอง-จังหวัดสตูล) โดยมีขอบเขตการศึกษา 8 ส่วน คือ
1. ศึกษาทบทวนผลการศึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเรียบชายฝั่งทะเลอันดามัน
2. ศึกษาด้านการขนส่งและจราจร
3. คัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบของถนนโครงการเบื้องต้น
4. ออกแบบแนวคิดเบื้องต้น (Conceptual Design) ของการพัฒนาโครงการทั้งแนวสายทางรูปแบบถนนโครงการพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ( New Landmark ) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว
5. จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) และประมาณราคามูลค่าโครงการ
6. ศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)
7. จัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน
8. ประชาสัมพันธ์โครงการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดรองจากกรุงเทพมหานคร หรือคิดเป็น 23% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งประเทศ ซึ่งจะศึกษาพัฒนาการเชื่อมโยงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่นอุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง, อ่าวนาง จ.กระบี่, เขาหลักจ.พังงา, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง, หาดนาใต้ จ.พังงา, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจ.สตูล และพัฒนาแห่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม
ที่มา: MGR Online