Admin
9 ส.ค. 2566
ชาวประมงท่าใหม่ พากันตัดเศษแพอวน ขยะกลางทะเลที่เกยตื้นไปขาย ได้วันละหลายพัน
ชาวประมงที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดนมรสุมออกเรือหาปลาไม่ได้ ต่างพากันมาตัดแพอวนขยะขนาดใหญ่ที่คลื่นซัดเกยหาด เพื่อนำไปขายเป็นขยะพลาสติก สร้างรายได้กว่าวันละพันบาท ด้านนักวิชาการห่วงขยะใต้น้ำทำลายชีวิตสัตว์ทะเล
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการพบแพอวนเศษซากเครื่องมือทำประมงขนาดใหญ่ น้ำหนักกว่า 1 ตัน ถูกกระแสน้ำพัดเข้ามาจนกระทั่งมาเกยตื้นชายหาด บริเวณสะพานบ้านสุดขอบฟ้า ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยที่มีชาวประมงเรือเล็กที่ไม่ได้ออกทะเลเพราะช่วงฤดูมรสุมต่างพากันมาตัดอวนเหล่านี้ไปขายเป็นขยะพลาสติก สร้างรายได้เสริมกว่า 1 พันบาทต่อคน เพราะขยะอวนจากทะเลเหล่านี้สามารถนำไปขายเป็นขยะรีไซเคิลได้กิโลกรัมละ 6 บาท โดยของฟรีที่กองอยู่นี้จึงค่อยถูกทยอยกำจัดตามแรงของชาวบ้าน โดยลงทุนลงแรงเพียงมีด-ขวาน ที่ทยอยสางและตัดอวนเหล่านี้ ให้หลุดออกจากกัน
นายสมเกียรติ เจนจัดทรัพย์ อายุ 55 ปี ชาวประมงเรือเล็กในพื้นที่ กล่าวว่า พอชาวบ้านเห็นว่ามีอวนมาเกยหาด ก็พากันออกมาตัดขาย แม้รายได้จะไม่มาก เพียงกิโลกรัมละ 6 บาท แต่นับว่าเป็นรายได้เสริม ช่วงที่เรือออกหาปลาไม่ได้ ช่วยเป็นค่ากับข้าวในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้ขยะพวกนี้หมดไปอีกทางหนึ่งด้วย โดยขยะอวนเหล่านี้จะถูกพัดเข้าฝั่งเป็นประจำในช่วงฤดูมรสุม แต่ปีนี้มีความแตกต่าง เพราะมีปริมาณมาก อีกทั้งลักษณะม้วน พันม้วนเป็นก้อนอัดแน่นจนกลายเป็นแพอวนขนาดมหึมา ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน โดยชาวประมงเชื่อว่าช่วงมรสุมเกิดกระแสน้ำจืดและน้ำเค็มปะทะกันทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำที่พัดเอาทุกสิ่งทุกอย่างในทะเลมารวมกัน ที่ชาวเลเรียกว่า ซังเล้า ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวประมงเข้าใจว่าคือขยะจากเครื่องมือประมงที่หลุดหายไปตามกระแสน้ำ ทั้งของประมงคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะที่ อาจารย์เพ็ญจันทร์ ละอองมณี อาจารย์คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มองว่าอวนขยะจำนวนมากเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ สำหรับความเปลี่ยนเปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นขยะจำนวนมาก แม้ว่าน่าตกใจ แต่นับเป็นความโชคดีที่คลื่นลมช่วยพัดเกยฝั่งให้เห็น เพราะหากแพขยะอวนเหล่านี้ยังลอยอยู่ในทะเลนานต่อไป อาจจะพบสัตว์ทะเลหลงเข้าไปติด กลายเป็นอวนที่ทำลายชีวิตสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์จำพวกเต่าทะเล และโลมา สิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้คือการสื่อสารกับชุมชน ชาวประมงในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งขยะลงทะเล และการใช้เครื่องมือประมงอย่างมีคุณภาพ
ส่วน นางสาวลลิตา ปัจฉิม นักวิชาการประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า เข้าที่สังเกตและตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากขยะอวนเหล่านี้ พบว่าแพอวนกองนี้สร้างความเสียหายให้กับสัตว์ทะเลจำพวกกัลปังหา ปลาเล็กปลาน้อย และสัตว์น้ำขนาดเล็ก แต่โชคดีว่าหลังจากการสำรวจไม่พบชิ้นส่วนของปะการังติดมากับอวน ทั้งที่เขตชายฝั่งทะเลเจ้าหลาวเป็นเขตแนวปะการังที่กว้างและยาว แต่จุดที่อวนเหล่านี้ลอยผ่านเป็นพื้นที่ปะการังที่ไม่มีชีวิต จึงไม่มีกิ่งก้านของปะการังได้รับความเสียหาย
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์