Admin 22 มิ.ย. 2566

ระบาดอีกแล้วปลาหมอสีคางดำ ตัวทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.อัมพวา

2023-06-22_09-08-13

สมุทรสงคราม - ชาวบ้านอัมพวาร้องปลาหมอสีคางดำระบาดหนัก ทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่นไม่เหลือ จังหวัดสั่งระดมกำลังลงคลองจับปลาหมอสีคางดำ พร้อมให้นำไปขายโรงงานทำอาหารสัตว์ พร้อมประกันราคาให้กิโลกรัมละ 5 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่คลองสัมมะงา คลองสาธารณะในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และนายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัด และชาวบ้านได้ร่วมกันลงแขกลงคลองจับปลาหมอสีคางดำ

หลังชาวบ้านร้องเรียนว่า ปลาดังกล่าวไม่ใช่สายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นถิ่น ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งนำเข้ามาเพื่อขยายพันธุ์เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ โดยทางบริษัทแจ้งว่าปลาตาย และได้ทำลายไปหมดหมดแล้ว ทั้งนี้ ปลาชนิดดังกล่าวเป็นปลาเนื้อแข็ง ก้างเยอะ และไม่อร่อย ไม่นิยมนำมารับประทาน หากเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ แหล่งน้ำของจังหวัดสมุทรสงคราม และอาจรวมไปถึงระดับประเทศในอนาคตอีกด้วย

โดยใช้วิธีวางอวนล้อมจับในคลองสัมมะงา ซึ่งเป็นคลองสาธารณะ กว้างประมาณ 5 เมตร น้ำลึกระดับเอว ระยะทางประมาณ 80 เมตร ปรากฏว่าได้ปลาหมอคางดำทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เกือบ 100 กิโลกรัม และพบปลานิลซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นขนาดตัวเท่ากับปลาหมอสีคางดำเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การลงแขกลงคลองจับปลาหมอสีคางดำ เนื่องจากสำนักงานประมงจังหวัดได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ปลาหมอสีคางดำ แพร่ระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลากัดกินสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ตัวเล็กกว่า เช่น ลูกปลาและกุ้ง รวมทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นอาหารคล้ายเอเลียนสปีชีส์ ทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น มีนิสัยดุร้าย ปากใหญ่ เนื้อบาง ก้างเยอะ จึงไม่เป็นที่นิยมนำไปรับประทาน ส่วนที่มาของการแพร่ระบาดนั้นคาดว่าน่าจะมาตั้งแต่ก่อนปี 2559 ปลาหมอสีคางดำได้หลุดลงสู่เเหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมีผู้นำมาทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ โดยในจังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดมากที่สุดในตำบลแพรกหนามแดง ตำบลยี่สาร และตำบลคลองโคน

โดยที่ผ่านมา สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามได้มอบพันธุ์ปลากะพงให้เกษตรกรนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้กัดกินทำลายลูกปลาหมอสีคางดำ แต่ช่วยได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากปลาหมอสีคางดำสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก โดยขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 2 เดือน ตัวเมียที่ตั้งท้องจะตกลูกได้ท้องละ 300-500 ตัว ขณะที่ตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงลูก ส่วนตัวเมียทำหน้าที่ตั้งท้องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำควบคู่กันไปในการกำจัดปลาหมอสีคางดำขณะนี้คือ การสนับสนุนชาวบ้านจับปลาหมอคางดำ ขายให้โรงงานปลาป่นนำไปทำอาหารสัตว์

นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ช่วงนี้มีโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาหมอสีคางดำ กิโลกรัมละ 6-7 บาท เพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ ชาวบ้านเริ่มจับปลาหมอคางดำไปขาย นอกจากจะมีรายได้แล้ว ยังทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำน่าจะเบาบางลง

อย่างไรก็ตาม จังหวัดมีกองทุนประกันราคารับซื้อปลาหมอสีคางดำจากเกษตรกร กรณีขายโรงงานได้ราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาทจะชดเชยส่วนที่ต่ำกว่า 5 บาทให้

ปลาหมอสีคางดำ ถือว่าเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นครอบครัวเดียวกับปลาหมอสี และปลาหมอเทศ จัดเป็นปลาที่กินอาหารเก่ง โดยสามารถกินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืช และลูกกุ้ง ลูกปลาที่มีขนาดเล็กๆ รวมทั้งมีความสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อัตราการรอดตายสูง ดังนั้นเมื่อมีการแพร่ระบาดจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่น รวมถึงบ่อเลี้ยงของเกษตรกร เป็นสัตว์น้ำตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย

2023-06-22_09-08-50 2023-06-22_09-09-20

ที่มา: MGR Online