Admin
12 มิ.ย. 2566
ฉลามกัดคนเสียชีวิตน้อยกว่าถูก’ผึ้ง ต่อ แตน’ต่อย
นักวิชาการสะท้อน ฉลามกัดคนเพราะเข้าใจว่าเป็นเหยื่อ พบเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่มีนิสัยจู่โจม คือ ฉลามขาว ฉลามเสือ และฉลามหัวบาตร กังวลการฉายภาพซ้ำทำคนเกลียด-ทำร้ายฉลาม เพราะเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ในปัจจุบัน
วันนี้ (10 มิ.ย. 2566) หลังมีการรายงานของ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอียิปต์ว่า เกิดเหตุชายชาวรัสเซียที่พำนักอยู่ในอียิปต์ เสียชีวิตหลังจากถูกฉลามเสือกัด ขณะเล่นน้ำทะเลนอกชายฝั่งบริเวณรีสอร์ทแห่งหนึ่งในทะเลแดง ใกล้เมืองฮูร์กาดา ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้นักวิชาการกังวลว่า อาจส่งผลให้หลายคนเกลียดฉลาม หากเป็นการฉายซ้ำภาพความดุร้ายของฉลาม และเสี่ยงส่งผลถึงการต่อต้านฉลาม
ศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ มองว่า ปรากฏการณ์ฉลามทำร้ายคนถึงเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และเมื่อเทียบกับสาเหตุการณ์ตายจากสัตว์ประเภทอื่นๆ ก็น้อยกว่ามาก
ผศ.ธรณ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ฉลามจู่โจมคนที่อียิปต์ว่า อาจทำให้หลายคนเกลียดฉลามมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วฉลามทั่วโลกที่มีเกือบ 500 ชนิด มีเพียง 12 ชนิดที่มีรายงานจู่โจมมนุษย์ และมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่พบสถิติเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ ฉลามขาว หรือ JAWs ชนิดนี้ไม่มีในไทย ฉลามเสือ ชนิดนี้เหลือจำนวนน้อยมากแล้ว มีรายงานเจอลูกฉลามที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน ของไทยแต่ก็ไม่มีท่าทางก้าวร้าว ส่วน ฉลามหัวบาตร พบเป็นระยะๆ เกือบทั้งหมดเจอโดยนักดำน้ำอยู่ในที่ลึก นานๆทีอาจมีตัวเล็กๆ เข้ามาชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ แต่ไม่เคยมีรายงานจู่โจมคนแบบมีหลักฐานในไทย
หากนับตั้งแต่ พ.ศ.2501 จนถึงปัจจุบัน (65 ปี) มีรายงานฉลามจู่โจมคนทั่วโลก 2,900 ครั้ง ถึงขั้นเสียชีวิตในทะเล 633 คน เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 10 คนต่อปี (ขณะที่ผึ้งต่อแตนต่อยคนถึงตายจำนวนมาก เฉพาะในอเมริกา ปีละ 60 คน) ส่วนเมืองไทยไม่มีรายงานฉลามกัดคนถึงตายในทะเลมานานมากแล้ว กรณีสุดท้ายคือ พ.ศ.2480-82 (อ่านพบจากหนังสือ พล นิกร กิมหงวน) ที่ว่ามีเหตุการณ์ฉลามกัดคนเล่นน้ำในไทยอยู่บ้าง 3-4 ปีครั้ง แต่เป็นการจู่โจมแบบเข้าใจผิด กัดครั้งเดียวแล้วว่ายไป ผู้บาดเจ็บมีอาการไม่มาก
“ เพราะมนุษย์ไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติของฉลาม ฉลามโจมตีคนเกือบทั้งหมดเข้าใจผิด เช่น คิดว่าเป็นแมวน้ำ หรือสัตว์ทะเล แต่บางครั้งเมื่อเกิดเลือดมากๆ อาจทำให้ฉลามคลั่งจึงกัดต่อ แน่นอนว่าฉลามเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ เราต้องระวังตัวเมื่ออยู่ใกล้ เช่นเดียวกับสัตว์อื่นตามธรรมชาติทั้งหลาย แต่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดหรืออยากทำร้ายพวกเธอก่อนในปัจจุบัน เพราะฉลามเหลือน้อยในทะเลไทย โอกาสเจอฉลามในแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป เช่น ชายหาดเล่นน้ำ มีน้อยมากๆ ”
โดยสถานะ ฉลามคือราชาแห่งทะเล เป็นผู้ล่าสูงสุดในพีระมิดอาหาร ควบคุมดูแลระบบนิเวศ ช่วยล่าปลาอ่อนแอ ทำให้เหลือแต่ปลาแข็งแรง ถือเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคโลกร้อนทะเลแปรปรวน ฉลามยังสำคัญต่อการท่องเที่ยว บางประเทศ เช่น มัลดีฟส์ ฉลามถือเป็นแรงจูงใจลำดับแรก เพราะนักท่องเที่ยวจะได้เห็นฉลามบ่อยครั้งที่ไปเยือน
ด้าน ทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลภูเก็ต กรมประมง กล่าวว่า ทะเลเป็นแหล่งอาศัยและหากินของฉลามโดยปกติ หากมนุษย์เข้าไปอยู่ในพื้นที่หากินของฉลามก็อาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นเหยื่อและถูกจู่โจมได้ โดยส่วนใหญ่ฉลามที่โตเต็มวัยมักอาศัยห่างจากชายฝั่งทะเล ไปจนถึงเขตทะเลลึก โอกาสที่จะเจอมีน้อยมาก และจำนวนประชากรฉลามในแหล่งธรรมชาติปัจจุบันก็น้อยมากเช่นกัน แต่อาจจะมีเคสอยู่บ้าง เช่น ฉลามกัดนักท่องเที่ยวที่หัวหินเมื่อปี 2561 แต่ไม่ถึงเสียชีวิตเพียงได้รับบาดเจ็บ และนั่นเป็นลูกฉลามหัวบาตรที่อาศัยและหากินตามบริเวณกองหินใกล้ชายฝั่งทะเล
“ ในอดีตนั้น ฉลามเสือเคยมีชุกชุมในน่านน้ำไทย แต่ในปัจจุบันพบว่า ประชากรฉลามเสือในธรรมชาติลดลงไปมาก ทั้งจากการพบเห็นถูกจับได้จากการประมง และการดำน้ำตามแนวปะการัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฉลามเสือขนาดเล็ก สำหรับการพบเห็นฉลามเข้ามาหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล มักอยู่ในช่วงเวลาใกล้ค่ำ และใกล้รุ่งเช้า ”
สำหรับสถานการณ์ของฉลามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าฉลามทุกชนิดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุสูงขึ้น
ปัจจุบัน ในหลายประเทศทั่วโลกมีการรณรงค์ไม่บริโภคหูฉลาม เพื่อลดความต้องการใช้ประโยชน์จากฉลาม ในประเทศไทยก็เช่นกัน มีความร่วมมือระหว่างองค์กร WildAid, กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อผลักดันในเรื่องนี้
ขณะที่ยังไม่มีวิธีการลดสัตว์น้ำที่เป็น bycatch (สัตว์น้ำพลอยจับได้, สัตว์น้ำที่จับได้โดยบังเอิญ และมีปริมาณน้อย,ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายของเครื่องมือประมง) จากเครื่องมือประมงแต่เครื่องมือประมง จึงพบว่ามีการจับฉลามได้โดยบังเอิญอยู่เป็นประจำ แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก ซึ่งทางกรมประมงได้รณรงค์ และขอความร่วมมือจากเรือประมง ที่จับฉลามได้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ และมีสภาพแข็งแรง ให้ปล่อยกลับสู่ทะเล แต่ถ้าตายแล้วก็นำมาใช้ประโยชน์ได้
“ ส่วนในเรื่องกฎหมายคุ้มครองฉลามในประเทศไทย ปัจจุบันมีเพียงฉลามวาฬเท่านั้น ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 66 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) รวมทั้งได้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน จำพวกปลา ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ส่วนฉลามชนิดอื่นๆ ยังสามารถซื้อขายได้ แต่กรณีที่ไปจับฉลามในพื้นที่คุ้มครองสัตว์น้ำต่างๆ ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้มีกระบวนการตรวจสอบเรือประมงอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยต้องมีการแจ้งเวลาออกจากท่า และเวลากลับเข้าท่า รวมทั้งมีระบบติดตามเรือประมงติดตั้งไว้บนเรือประมงซึ่งใช้ตรวจสอบเส้นทางในการทำประมงได้ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ”
ที่มา: The Active