วันนี้ (8 มิ.ย.2566) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2566
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พ.ย.2561
เพื่อกำหนดประเภทโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงออกประกาศฉบับนี้
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล ประกอบด้วย รอดักทราย, เขื่อนกันทรายและคลื่น, รอบังคับกระแสน้ำ, แนวเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทะเล และ กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาด ต้องจัดทำ EIA ส่วนขั้นตอนในการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นั้น ต้องเสนอในขั้นขออนุมัติ หรือ ในขั้นขออนุญาตโครงการ แล้วแต่กรณี
ไม่บังคับใช้โครงการย้อนหลังปี 67 - ผ่านงบ
อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่ไม่ให้ใช้บังคับกับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
โดยผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เสนอขอรับจัดสรรงบ 2567 ต่อสำนักงบประมาณแล้วก่อนที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
"ศศิน" ห่วง EIA ฟอกโครงการกระทบสวล.
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการ และขอบคุณทุกฝ่ายที่ผลักดันจนสำเร็จแต่อย่าลืมว่าในวงการสิ่งแวดล้อมการทำ EIA เป็นการฟอกโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง และเป็นข้ออ้างสำคัญของเจ้าของโครงการว่ามันผ่าน EIA มาแล้วจะมาค้านอีกทำไม
" สรุปว่า EIA จะเป็นเสมือน VISA ให้สิ่งแปลกปลอมที่อันตรายถูกทำให้เชื่อว่ามันแก้ไขได้ ทั้งที่ความเป็นจริงก็แค่ดีขึ้นบ้าง หรือมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ อาจจะลดผลกระทบได้บ้างไม่ได้บ้าง "
นายศศิน ระบุว่า ที่สำคัญคือคณะกรรมการอ่าน EIA โดยหลักการจะไม่สามารถให้ยุติโครงการได้ และไม่สามารถยกเลิก EIA ได้ ถ้าเจ้าของโครงการไม่ถอนออกไปเอง ดังนั้นก็จะมีการผลักดันแก้ไขไปเรื่อยๆ จนกว่ามาตรการจะผ่าน
" ถ้าผ่านจาก EIA ออกมาจะยับยั้งได้ก็เหลือที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ก็ไม่สามารถหยุดโครงการได้ หากเจ้าของโครงการยังเสนอกลับมาใหม่ก็มักจะไปผ่านได้สักวันเมื่อเปลี่ยนคณะกรรมการบางคนที่คัดค้าน "
ดังนั้นเมื่อผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขั้นตอนอื่นๆ ก็จบและเดินหน้าลุยไม่ใช่เฉพาะกำแพงกันคลื่นที่ว่าโครงการตามประกาศที่ต้องทำ EIA อื่นด้วย
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุอีกว่า ประกาศนี้มีข้อดีตรงที่เจ้าของโครงการก็ลดความอยากที่จะเสนอให้ทันงบปีนั้นๆ ออกไปได้เยอะ เพราะรู้ว่ารีบทำไปก็ไปติดที่ EIA มีเรื่องอื่นไที่ง่ายกว่ามาให้ทำก็มักจะของบ โครงการเขื่อนก็ชะลอ ยาว อาจจะมีเวลาทางแก้ไขด้วยวิธีอื่น หรือหาดปรับสมดุลจนมันไม่เซาะแล้วก็ได้ ถ้ายังไม่ถึงขั้นไปขอ EIA
" แต่เรื่องตลกคือ หากอยู่ระหว่างทำ EIA แล้วปัญหาอาจจะถูกแก้ไขโดยวิธีอื่นเรียบร้อย จนผ่านไป EIA ก็ทำต่อได้ พราะเจ้าของโครงการไม่ยอมถอนออก วันหนึ่งกรรมการก็ย่อมให้ผ่าน "
แล้วโครงการก็อาจจะถูกเสนอตั้งงบประมาณอีก ยกเว้นว่ามีคนคอยดักไว้ไม่ให้ เสนองบ หรือมีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่รู้เรื่องมาเสนอยับยั้งไว้ได้
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ธ.ค. 2565 เครือข่ายทวงคืนชายหาด และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 94 องค์กร กลุ่ม Beach for life ปักหลักชุมนุมด้านหน้า ทส.ยื่น 3 ข้อให้ "กำแพงกันคลื่น" ต้องทำ EIA หลังปลดล็อก 10 ปี พบว่ากรมโยธาธิการและผังเมือง ผุดโครงการ 107 แห่งใช้งบ 6,694 ล้านบาท แต่กระทบวิถีชุมชนและเสียหายต่อนิเวศ หลังจากกำแพงกันคลื่นถูกถอดจากโครงการที่ต้องศึกษาผลกระทบ EIA