Admin 8 มิ.ย. 2566

8 มิถุนายน “วันทะเลโลก” ร่วมกันรักษ์โลก หลังพบมนุษย์กำลังทำลายมหาสมุทร

8 มิถุนายน “วันทะเลโลก” ร่วมกันรักษ์โลก หลัง IUNC พบกิจกรรมมนุษย์กำลังทำลายมหาสมุทร

2023-06-08_15-02-01

ทะเลมีพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกใบนี้ จึงเปรียบเสมือนหัวใจของโลก ที่เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ดังนั้นเพื่อเป็นการตระหนักถึงวันสำคัญของท้องทะเลและมหาสมุทร จึงมีการจัดตั้งให้มี “วันทะเลโลก” หรือ “วันมหาสมุทร” ที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “World Ocean Day” ขึ้นมา ให้ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี

คำขวัญวันทะเลโลก  2566 : " Planet Ocean : Tides are Changing : เปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม "

ที่มาของวันทะเลโลก

ในคราวการประชุมสุดยอดระดับประเทศผู้นำว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development : UNCEN) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 ประเทศสมาชิกกว่า 178 ประเทศรวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์การรักษาทะเล ส่งต่อไปยังประชาชนทั่วโลกผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ  และนับตั้งแต่นั้นมาก็ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี 2551 องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันทะเลโลก” นั่นเอง โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2552 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในการดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรอย่างพร้อมเพรียงและได้ทำสืบเนื่องต่อกันมาเรื่อยๆ

กิจกรรมในวันทะเลโลก

ทุกๆ คนสามารถร่วมกันรณรงค์รักษาทะเลในวันสำคัญนี้ ได้โดย

- เก็บขยะชายหาด

- ดำน้ำเก็บขยะทะเล

- รณรงค์ชายหาดปลอดบุหรี่

- บริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิดูแลสัตว์และผืนทะเล

การรักษาท้องทะเลในระยะยาว

การร่วมมือกันอนุรักษ์ท้องทะเลในระยะยาว ตามคำแนะนำของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้

1. อย่าจับสัตว์ทะเลหรือเก็บเปลือกหอยกลับบ้าน

ถ้าคุณไปเที่ยวทะเล อย่าจับสัตว์ทะเลหรือเก็บเปลือกหอยกลับบ้าน ปล่อยให้มันอยู่กับทะเลดีกว่า เพื่อแบ่งปันความความสวยงามให้ผู้อื่นได้พบเห็นภายหลัง โดยคุณอาจเลือกวิธีถ่ายภาพเก็บความประทับใจไว้แทนก็ได้

2. ไม่ทิ้งขยะลงในชายหาดและทะเล

การไม่ทิ้งเศษขยะ เศษอาหาร ถุงพลาสติก ลงในชายหาดและในทะเล จะช่วยลดปัญหาสัตว์ทะเลกินเข้าไป ซึ่งทำให้สัตว์ป่วยและเสียชีวิต

3. ไม่ปล่อยน้ำเสียลงท่อระบายน้ำที่ไม่มีการบำบัดน้ำเสีย

ไม่ควรปล่อยน้ำเสียจากการซักล้างหรือน้ำปนเปื้อนสารพิษลงท่อระบายน้ำที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะท้ายที่สุดมันจะไหลลงสู่ทะเล

4. ไม่แล่นเรือที่มีรอยรั่วของถังน้ำมัน

ตรวจสอบเรือก่อนออกจากฝั่ง หากมีรอยรั่วของถังเก็บน้ำมันต้องซ่อมแซมก่อน เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคราบน้ำมันบนพื้นผิวทะเล

5. ไม่ควรจับสัตว์หรือพืชทะเล ระหว่างดำน้ำ

หากคุณดำน้ำเพื่อชมปะการัง ไม่ควรจับต้องสัตว์ทะเล พืชทะเล เพราะอาจเป็นการทำร้ายสัตว์และพืชทะเลโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งยังเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษอีกด้วย

6. อย่าปล่อยโคมลอย ลูกโป่ง ขึ้นบนอากาศ

การไม่ปล่อยโคมลอย ลูกโป่ง ขึ้นบนอากาศ เป็นการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลอย่างหนึ่ง  เพราะหากมันตกลงทะเล สัตว์ทะเลจะเข้าใจว่าเป็นอาหารและกินเข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์ทะเลเสียชีวิต

ข้อมูลต้นปี 2566 ชี้กิจกรรมมนุษย์ ทำลายทะเล

ในวันทะเลโลกนี้ เป็นโอกาสดีที่จะทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเลนี้อีกครั้ง ซึ่งเราอาจละเลยไป โดย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUNC) สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันกำลังคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล มีสัตว์และพืชทะเล กว่า 1,550 ชนิดจากทั้งหมด 17,903 ชนิด เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ จากการทำประมงผิดกฎหมายและไม่ยั่งยืน มลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และโรคภัยไข้เจ็บ

ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยัง ก่อนที่จะสายเกินไปสำหรับในการดูแลรักษาหัวใจของโลกใบนี้

ที่มา: PPTV Online