Admin
8 มิ.ย. 2566
แมงกะพรุนไฟโผล่หาดภูเก็ต เตือนลงทะเลให้ระวัง
ไลฟ์การ์ดภูเก็ต เตือนระวังแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส ตัวเล็กพิษร้าย พบโผล่ใกล้หาดกะรน จ.ภูเก็ต แนะนักท่องเที่ยวเพิ่มความระมัดระวังหากลงเล่นน้ำทะเล
วันนี้ (7 มิ.ย.2566) เพจ Phuket Lifeguard Service ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด พบ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส บริเวณหาดเมอริเดี้ยน ใกล้กับหาดกะรน ขณะที่หาดอื่น ๆ ยังไม่มีรายงานแจ้งเข้ามา และยังไม่มีรายงานนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส
แอดมิน Phuket Lifeguard Service ยังเตือนว่า หากพบเห็นแมงกะพรุนชนิดดังกล่าว ไม่ควรไปสัมผัส หรือ แตะต้อง เนื่องจากหนวดของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส จะมีพิษทำให้แสบร้อน แผลจะเป็นเส้นนูนยาวตามความยาวของหนวด ซึ่งหนวดอาจมีความยาวถึง 2 - 3 ม. หรือในผู้ที่แพ้อาจมีอาการหายใจติดขัด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากถูกพิษให้ใช้น้ำทะเลล้างบริเวณที่ถูกพิษและดึงหนวดออกเพื่อบรรเทาอาการปวด จากนั้นให้แช่บริเวณที่ถูกพิษในน้ำอุ่นเป็นเวลา 20 นาที หรือพบแพทย์
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูมรสุม เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด มักที่จะพบแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสถูกคลื่นซัดมาลอยติดชายหาด ในช่วงฤดูมรสุมเดือน มิ.ย. - ต.ค. โดยจะพบมากในช่วง มิ.ย.- ก.ค.
ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดจะเดินตรวจตลอดแนวชายหาดหลักของภูเก็ต เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและเก็บแมงกะพรุนดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะลงเล่นน้ำบริเวณหาด โดยเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดจะดูแลหาดสำคัญเช่น หาดในทอน หาดสุรินทร์ หาดกะรน หาดป่าตอง หาดบางเทา หาดกะตะ หาดในหาน เป็นต้น
"ขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแล บุตร หลาน หากพบแมงกะพรุนไฟหมวก ให้หลีกเลี่ยง หรือไปสัมผัส เพราะเด็กอาจจะไปเล่นเพราะเห็นว่ามีสีสันสวยงาม แต่ที่จริงแล้วมีอันตรายหากพบเห็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่"
ข้อมูลจาก เพจ https://phuketaquarium.org ระบุว่า ชื่อของ แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) ได้มาจากความอันตรายของ แมงกะพรุนชนิดนี้เปรียบได้กับเรือรบของประเทศโปรตุเกสสมัยมีการล่าอาณานิคม และรูปทรงของแมงกะพรุนก็คล้ายกับหมวกของทหารโปรตุเกสอีกด้วย
แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มของ Hydrozoa ซึ่งจะต่างจากแมงกะพรุนทั่วไปที่เราพบที่อยู่ในกลุ่ม Scyphozoa
แมงกะพรุนตัวที่พบใน จ.ภูเก็ต คือ แมงกะพรุนขวดเขียว (blue bottle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Physalia utriculus ) ซึ่งจะพบแพร่กระจายในบริเวณอินโดแปซิฟิก โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่าแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Physalia physalis) ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ถึงชีวิตได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าแมงกะพรุนขวดเขียว (blue bottle) ทำให้คนเสียชีวิตได้
ที่มา: Thai PBS