Admin 2 พ.ค. 2566

พักใบอนุญาต "ครูสอนดำน้ำ" ฆ่าปลาวัวไททัน-เอาผิดไม่ได้ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง

2023-05-02_09-18-29

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวชุมพร สั่งพักใบอนุญาต ครูสอนดำน้ำ " ฆ่าปลาวัวไททัน " เหตุไม่ได้จดทะเบียนในพื้นที่ ส่วน ทช.เอาผิดไม่ได้ เหตุไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง และอยู่นอกพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เตือนนักดำน้ำ ระวังฤดูนี้จะหวงอาณาเขต

กรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่งโพสต์ลงโซเชียลว่า ปลาวัวไททันกัดขา บริเวณเกาะร้านเป็ด และจากนั้นได้ฆ่าปลาตัวดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไปกัดผู้อื่นอีกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

วันนี้ (30 เม.ย.2566) นายนฤพล สังเกตุ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพรเข้าพบกับครูสอนดำน้ำ โดยครูสอนดำน้ำได้ขอโทษ สำนึกผิดและขอรับผิดกับสิ่งที่ทำขึ้น

2023-05-02_09-18-59

จากการตรวจสอบบริษัทของนักดำน้ำที่โพสต์ข้อความ พบว่าได้จดทะเบียนที่จังหวัดอื่น ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใน จ.ชุมพรได้จึงขอให้หยุดทำธุรกิจไว้ก่อน

" ตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว ถ้าการประกอบอาชีพในพื้นที่ชุมพรต้องจดในจังหวัดนี้ เบื้องต้นให้หยุดธุรกิจและไปยื่นทะเบียนหลักฐานจดทะเบียนให้ถูกต้อง "

2023-05-02_09-19-49

ทช.เตือน "ปลาวัวไททัน" หวงอาณาเขต

ด้านนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า มอบหมายให้นายวิชัย สมรูป ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

" เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และจะเรียกตัวผู้ประกอบการ มารับทราบกฎระเบียบในการดำน้ำ และการท่องเที่ยวในทะเลที่ถูกต้อง ภายหลังหากตรวจสอบแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป "

นอกจากนี้ ทช.ได้ร่างประกาศ ทส.เรื่องมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. โดยระบุข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบกระเทือนต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

2023-05-02_09-20-17

รู้จักปลาวัวไททัน ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง

สำหรับ "ปลาวัวไททัน” (Titan triggerfish) Balistoides viridescens เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อน และเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อย และพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย กินสัตว์น้ำหน้าดินและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร

จากการวิจัยพบว่ามีขนาดใหญ่สุดประมาณ 75 cm. ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัย ชอบอาศัยอยู่บริเวณขอบแนวปะการังและกองหินใต้น้ำ และจะทำรังตามพื้นทรายใกล้กับแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ลักษณะของรังจะทำเป็นหลุมคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ (ลักษณะเหมือนหลุมปลานิล)

" ส่วนพฤติกรรม เป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่น และจะมีนิสัยก้าวร้าวเมื่อเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน "

ปลาวัวไททัน มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนาม ซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททันจึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะสมดุล รวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย

" หากระบบนิเวศแนวปะการังขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้นจนขาดภาวะสมดุล ฝากถึงนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว ปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากสัตว์ทะเล ควรปฏิบัติต่อสัตว์น้ำด้วยเมตตา อย่ารังแก อย่ารบกวนโดยไม่จำเป็น "

2023-05-02_09-20-44

นอกจากนี้ยังแนะนำให้ระมัดระวังอย่างยิ่งขณะดำน้ำ ในบริเวณที่น้ำขุ่นมาก ในการวางมือ วางเท้า หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับที่ห้อย และสะท้อนแสง ควรใส่ถุงมือ หรือชุดดำน้ำเพื่อป้องกันการทิ่มแทง และบาดเจ็บปรับการลอยตัวให้เป็นกลาง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นใต้ทะเลเคลื่อนไหวช้าๆ ระมัดระวัง และดูให้ดีในพื้นที่ที่จะไป

รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ และสัมผัสกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยทุกชนิด อย่างกลุ่มปลาวัวนี้ จะมีการวางไข่ไว้บนพื้นทราย และช่วงนี้ปลาวัวไททัน จะคอยเฝ้าระวังรัง คอยพ่นน้ำบริเวณรังที่มีไข่ถูกทรายกลบทับ และป้องกันการบุกรุกจากปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะเข้ามากินไข่

ช่วงเวลานี้ปลาวัวจึงมีพฤติกรรมหวงกันอาณาเขต และก้าวร้าว หากนักดำน้ำเรียนรู้พฤติกรรมและพบเห็นว่าปลาวัวไททัน แสดงพฤติกรรมพ่นน้ำลงพื้นหรือคอยไล่ปลาที่หากินออกจากพื้นที่ ก็ควรออกห่างจากอาณาบริเวณอาณาเขตของปลาก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกปลากัด

ที่มา: Thai PBS