Admin 2 พ.ค. 2566

ตื่นตา! โลมาสีชมพูสองตัว โผล่อวดโฉมที่ อช.หมู่เกาะระนอง

2023-05-02_08-48-50

วันนี้ (1 พ.ค.2566) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง เผยภาพ “โลมาหลังโหนก” หรือ โลมาสีชมพู” ที่พบบริเวณปากคลองทรายดำ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง จำนวน 2 ตัว กำลังหาอาหารตามแนวชายฝั่ง

โลมาสีชมพู ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sousa chinensis จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างหัวกลมมน มีปากเรียวยาว เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 2.2-2.8 เมตร ตัวเมียจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย หนักประมาณ 150-230 กิโลกรัม อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี ทั้งนี้การลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อ่านเพิ่มเติม https://portal.dnp.go.th/Content?contentId=22022

อาหารที่ชอบกินของโลมาสีชมพู ได้แก่ ปลาเล็ก ปลาหมึก และสัตว์พวกกุ้ง เคย ปู เป็นต้น เมื่อพวกมันออกหาอาหารจะใช้สัญญาณเอคโคและออกล่าเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่รวมกลุ่ม แต่โลมาสีชมพูก็จะดุร้ายได้เหมือนกัน และมักจะแยกตัวเองออกไปจากตัวอื่นพอสมควรเมื่อต้องการหาอาหาร หรือต้องกินอาหาร

ในช่วงที่ผ่านมา โลมาสีชมพู ถือว่าเป็นพระเอกแห่งทะเลขนอม นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมราช ว่ากันว่าถ้าจะให้ได้ชื่อว่าไปถึงทะเลขนอมอย่างแท้จริงก็ต้องไม่พลาดกิจกรรมชมโลมาสีชมพู ซึ่งเป็นโลมาประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ที่ทะเลแห่งนี้ซึ่งมักจะออกมาโชว์ตัวให้นักท่องเที่ยวได้ชมความน่ารักเกือบทุกวัน

ดังนั้นการมาโผล่หากินตามแนวชายฝั่งในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง คาดว่าต่อไปที่นี่อาจเป็นที่อยู่อาศัยประจำอีกแห่งหนึ่ง และนั่นแสดงถึงความสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งนี้อีกด้วย

2023-05-02_08-49-21

สีชมพูมาจากไหน ?

ลักษณะเด่น คือ ส่วนหลังโหนกเป็นแนวยาว 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว จึงเรียกชื่อว่า โลมาหลังโหนก ส่วนสีชมพูที่ส่วนงามบริเวณลำตัว ที่จริงแล้วมีสีต่างกันมากตามอายุ ตอนวัยเด็กจะมีสีเทาดำ และจางลงเมื่อโตขึ้นตัวเต็มวัย บางตัวมีสีเทาประขาว แต่พออายุมากขึ้นจะมีสีออกขาวเผือก หรือ ชมพู

ช่วงวัยเด็กจะเห็นว่ามีสีเข้มกว่าตัวเต็มวัย พอเป็นวัยรุ่นจะเริ่มมีจุดสีเทาปนชมพูเกิดขึ้น ยิ่งแก่เท่าไหร่สีผิวจะยิ่งเป็นสีชมพูมากขึ้น บริเวณผิวด้านล่างจะเป็นจุดๆ และมีสีที่สว่างกว่าด้านบน “ สีชมพูของโลมาไม่ได้มาจากเซลเม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป ”

สำหรับพฤติกรรมโดยทั่วไป ชอบอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร บริเวณที่โลมาอาศัยอยู่มักจะพบว่า ชายฝั่งทะเลนั้นจะมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอๆ แต่จะต้องอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น โลมาสายพันธุ์นี้ชอบอาศัยประจำที่ หรือ มีการย้ายที่อพยพน้อยมาก และอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้โดยง่าย โดยมักจะพบเห็นตั้งแต่ตอนเช้า ซึ่งจะอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนจะโผล่ขึ้นมาหายใจ บางครั้งมีพฤติกรรมดุร้าย โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ล่าเข้ามา

ที่มา: MGR Online