Admin
3 ส.ค. 2564
ผลการวิเคราะห์ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี จากภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64
ผลการวิเคราะห์ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี จากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinal-2B
บริเวณอ่าวไทยตอนบน วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.35 น.
จากกรณีพบการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี นั้น ในการนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่การเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และคาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผล กระทบด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2B ระบบ MSI บริเวณอ่าวไทยตอนบนวันที่ 30 ก.ค. 2564 เวลา 10.35 น. พบว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีในพื้นที่บริเวณกลางทะเลอ่าวไทยตอนบน และบริเวณใกล้ชายฝั่ง กระจายเป็นพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร (บริเวณที่เป็นสีแดงในพื้นที่กรอบสีขาว)
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ร่วมกับกระแสน้ำจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง และประเมินพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีคือพื้นที่บริเวณตลอดแนวชายฝั่งของตำบลอ่างศิลา และตำบลแสนสุข อำเภอเมือง และตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (พื้นที่กรอบสีแดง)
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว (bloom)ของ Phytoplankton (แพลงก์ตอนพืช สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง) ซึ่งจะมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษโดยจะเกิดเป็นระยะเวลาหนึ่ง ช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนมากจะเกิดช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีมวลน้ำจากบกที่มีปริมาณสารอาหารสำหรับพืชน้ำไหลลงสู่ทะเล ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสารอาหารในน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ในน้ำ เป็นต้น ทำให้ค่อนข้างยากต่อการคาดการณ์การเกิด โดยปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบ ในหลายด้าน เช่น
1) คุณภาพน้ำชายฝั่งเน่าเสีย เนื่องจาการเน่าสลายของ Phytoplankton พวกนี้ จะมีผลต่อสัตว์ทะเลทำให้ขาดออกซิเจนและตายได้
2) ทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวลดน้อยลง เนื่องจากน้ำชายฝั่งเน่าเสีย ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำในทะเล
3) สัตว์ทะเลที่กิน Phytoplankton เหล่านี้เข้าไป ถ้าเป็นชนิดมีพิษ จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
4) มีผลกระทบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้
ดาวน์โหลดผลการวิเคราะห์