ในอดีตประเทศไทยประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติต่างๆ มากมาย อาทิ มหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งมีมวลน้ำจืดปริมาณมากไหลลงสู่อ่าวไทย ทำให้เกิดส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเกษตรกรรมชายฝั่ง จากเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากการขาดข้อมูลและประสิทธิภาพในการป้องกันและแจ้งเตือน การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการไหลเวียนของกระแสน้ำและคลื่นทั้งในเชิงเวลาและเชิงพื้นที่ การขาดความต่อเนื่องของข้อมูลและระบบ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน): สทอภ. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบเรดาร์ชายฝั่งเพื่อการเตือนภัยทางบกและทางทะเล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลกระแสน้ำและคลื่นที่ได้จากระบบมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในทะเลและชายฝั่ง
โครงการระยะที่ 1 ติดตั้งระบบตรวจวัดแบบ HF (High Frequency) จำนวน 13 สถานี และระบบ X Band จำนวน 5 สถานี รวม 18 สถานี ในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย และอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ติดตั้งระบบตรวจวัดแบบ HF (High Frequency) จำนวน 6 สถานี ติดตั้งอุปกรณ์วัดลมในทุกสถานี รวม 24 สถานี ติดตั้ง CCTV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจวัดให้มากขึ้น