Admin 2 ก.พ. 2562

พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ บริเวณ ชายหาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผย นายมงคล ลิ่ววิริยะกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง ได้ประสานงานมายังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่าพบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ บริเวณ ชายหาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จึงได้สั่งการให้นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สบทช.8) ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบร่องรอยการขึ้นวางไข่ เป็นเต่าหญ้า ตรวจวัดรอยความกว้างของหน้าอก 78 เซ็นติเมตร เจ้าหน้าที่ได้ทำการขุดย้ายนำไปฟักที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หาดท่าไทร ตรวจนับจำนวนไข่ได้ 81 ฟอง เป็นไข่สมบูรณ์ทั้งหมด 1-1

นับว่าเป็นข่าวดีอีกครั้งที่ได้พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ จ.พังงา พบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่จำนวน 3 ครั้ง บริเวณหาดคึกคัก และหาดท่าไทร จ.พังงา โดยในครั้งนี้พบเป็นเต่าหญ้าแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณดังกล่าวนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จึงทำให้เต่าทะเลทั้งสองชนิดที่นับวันยิ่งหายากและใกล้สูญพันธุ์ขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก

นายจตุพร กล่าวว่า กรมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีภารกิจหลักในการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ได้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง โดยมีอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิในรังไข่ จัดทำรั้วขนาดใหญ่รอบรังไข่เต่า เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ตามธรรมชาติเข้าไปรบกวนภายในบริเวณฟักไข่ และป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้หรือขโมยไข่เต่า พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เปิดให้ชมสด เพื่อให้ทุกคนทั่วไทยทั่วโลกชมได้ตลอดเวลา และได้ร่วมมือกับท้องถิ่นเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีผู้คนให้ความสนใจมาเดินชมตลอดเวลา

2-2

นายจตุพร กล่าวต่อว่า สำหรับเต่าหญ้า (Olive Ridley Turtle) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ่มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535 มีลักษณะกระดองเรียบสีเทาอมเขียว สีสันไม่สวยงามเท่าเต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จะงอยปากมนกว่าเต่าตนุ และที่แตกต่างกันชัดเจน คือเต่าหญ้ามีเกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า 2 คู่ และเกล็ดบนกระดองหลังแถวข้าง มีจำนวน 6-8 แผ่น โดยคู่แรกชิดติดกับเกล็ดขอบคอ ในขณะที่เต่ากระและเต่าตนุมีเพียง 4 แผ่น ขนาดโตเต็มที่ 75-80 ซม. น้ำหนัก 50 กก. ขนาดที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ ความยาวกระดอง 60-65 ซม. จัดเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุด ตัวเต็มวัยหากินอยู่ชายฝั่งน้ำตื้นแต่สามารถดำน้ำได้ถึง 300 เมตร วางไข่ทุกๆ 1-3 ปี ฤดูวางไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม กินสัตว์น้ำต่างๆ ได้แก่กุ้ง หอย ปู และปลา เป็นอาหาร ถิ่นอาศัยหลักอยู่ในเขตซีกโลกเหนือ บริเวณที่มีอุณหภูมิของน้ำ 20ºC ส่วนประเทศไทยพบมากในฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่เกาะกระ เกาะพระทอง เกาะคอเขา หาดท้ายเหมือง จ.พังงา และหาดไม้ขาว หาดกมลา หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันพบการขึ้นมาวางไข่ของเต่าหญ้าน้อยมาก เกรงว่าเต่าชนิดดังกล่าวนี้น่าจะใกล้สูญพันธุ์แล้ว

ดังนั้น กรม ทช. จึงขอความร่วมมือจากทุกๆ คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเลให้มากขึ้น เช่น ไม่ทิ้งถุงพลาสติกบริเวณชายหาดหรือในท้องทะเล ลดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การสร้างรีสอร์ทที่ส่งผลกระทบทำลายระบบนิเวศทางทะเล และลดความเชื่อผิดๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมทั้งอยากให้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมลงมือทำกันอย่างจริงจัง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ทะเลที่หายากเหล่านี้ให้คงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไป “นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย”

ที่มา:https://www.springnews.co.th/thailand/south/433681