Admin 23 ต.ค. 2561

EU เดินหน้ากิจกรรมเก็บขยะชายหาดทั่วโลก ส่งสารเตือนแก้ปัญหา 'พลาสติก' ก่อนจะมากกว่าจำนวนปลา

1-1

คณะนักการทูตชาวยุโรปและพนักงานชาวไทย จากคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย กว่า 60 ชีวิต ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดบนเกาะสาก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี พร้อมด้วยคณะผู้วิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง บนชายหาดที่มีความยาวเพียง 150 เมตร กลับสามารถรวบรวมชิ้นส่วนขยะพลาสติก ตลอดจนเศษขยะอื่นๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ชิ้น เวย์น ฟิลลิปส์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม MUIC และผู้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่องขยะพลาสติกและปะการังบนเกาะสาก เปิดเผยภายหลังทำการคัดแยกขยะดังกล่าวว่า ขวดพลาสติกมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 89% ตามมาด้วยชิ้นส่วนโฟม ถุงพลาสติก และหลอด

1-2

กิจกรรมดังกล่าวคือหนึ่งในภาพใหญ่ ของแคมเปญรณรงค์ทำความสะอาดชายหาดระดับโลก ซึ่งสำนักงาน EU ในแต่ละประเทศจะร่วมทำกิจกรรม เริ่มมาตั้งแต่ "วันทำความสะอาดชายฝั่งสากล" วันที่ 15 กันยายน และจะยาวไปจนถึงวันที่ 29-30 ตุลาคม 2561 ซึ่งต่อเนื่องกับการประชุมว่าด้วยเรื่องมหาสมุทร ที่ EU กำลังจะจัดขึ้น ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย "โลกเราไม่สามารถรับขยะพลาสติกไปได้มากกว่านี้ เราต้องเริ่มมีจิตสำนึกในทุกครั้งที่รับถุงพลาสติกหรือหลอดออกจากร้านค้า ว่าสุดท้ายมันไปจบลงในทะเล ซึ่งกิจกรรมนี้เราต้องการส่งสารที่ชัดเจนว่าปัญหานี้ใหญ่มากเพียงใด และทุกคนทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา" เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว ความจริงจังของ EU ในเรื่องนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปต้องทำการรับรองกลยุทธ์ด้านพลาสติกสำหรับ EU ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะพลาสติก พร้อมส่งเสริมการเติบโต การสร้างนวัตกรรม และผลักดันเศรษฐกิจไปสู่รูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในแต่ละปีประชากรชาวยุโรปจะผลิตขยะพลาสติกจำนวน 25 ล้านตัน แต่สามารถทำการจัดเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ไม่ถึง 30% ในขณะที่ทั่วโลกมีสัดส่วนของขยะพลาสติกมากถึง 85% ของขยะที่พบตามชายหาดและในทะเล ขณะเดียวกันนักวิจัยได้ประมาณการว่า ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจสามารถคงมูลค่าของวัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้เพียง 5% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะหายไปหลังจากที่ใช้งานครั้งแรก คิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 70-105 พันล้านยูโรต่อปี พลาสติกที่ไม่ผ่านการรีไซเคิลนั้นใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย เศษพลาสติกหลายล้านตันจึงตกค้างในมหาสมุทรทุกปี ส่งสัญญาณที่น่าตกใจและสร้างความกังวลต่อสาธารณชนเพิ่มมากขึ้น มาวันนี้ทุกคนต่างรู้แล้วว่าพลาสติกสามารถกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ผ่านพลาสติกขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ซึ่งปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง

1-3

จากเหตุผลหลักดังกล่าว เป็นที่มาให้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ทำการรับรองยุทธศาสตร์พลาสติกเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความท้าทายให้เป็นวาระเชิงบวกสำหรับยุโรป เปิดโอกาสเชิงธุรกิจสำหรับการเปลี่ยนกระบวนการออกแบบ ผลิต ใช้ และนำกลับมาใช้ใหม่ ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดย EU ต้องการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนี้ ผ่านโอกาสการลงทุนและการสร้างงานใหม่ๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ บรรจุภัณฑ์พลาสติกในตลาด EU จะต้องสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) และจำกัดการใช้พลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกโดยเจตนา ยุทธศาสตร์ใหม่นี้คาดว่าจะทำให้สหภาพยุโรป กระตือรือร้นในการรีไซเคิลเชิงธุรกิจ เพื่อลดขยะพลาสติก และหยุดการทิ้งขยะในทะเล รวมทั้งผลักดันการลงทุนและนวัตกรรม และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก เพราะมาตรฐานของสหภาพยุโรปจะถูกบังคับใช้กับประเทศต่างๆ ที่ส่งสินค้ามาขายในสหภาพยุโรปทั้งหมด สำหรับรายละเอียดภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย ทำให้การรีไซเคิลสร้างกำไรในเชิงธุรกิจ: EU จะพัฒนากฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพื่อปรับปรุงการนำกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติกที่ใช้ในตลาด และเพิ่มความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลให้สูงขึ้น รวมถึงมีการจัดเก็บขยะที่เพิ่มขึ้น จัดตั้งและปรับปรุงศูนย์การรีไซเคิลที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานสำหรับการจัดเก็บและการแยกขยะใน EU ลดขยะพลาสติก: ก่อนหน้านี้กฎระเบียบในยุโรปได้ช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไปได้มากแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่นี้จึงมุ่งไปที่พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอื่นๆ และเครื่องมือประมง สนับสนุนแคมเปญระดับชาติเพื่อสร้างความตระหนัก กำหนดขอบเขตของกฎระเบียบใหม่ ใช้มาตรการเพื่อจำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไมโครพลาสติก รวมถึงทำการติดฉลากสำหรับพลาสติกย่อยสลายได้ ยับยั้งการทิ้งขยะในทะเล: จะมีการรับรองกฎระเบียบใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้ท่าเรือมุ่งจัดการกับเศษขยะ โดยมาตรการที่มีเพื่อให้แน่ใจว่าขยะที่เกิดจากเรือประเภทต่างๆ จะไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่มีการจัดเก็บกลับคืนสู่บนบก และจัดการได้อย่างเหมาะสม รวมถึงช่วยลดภาระการบริหารจัดการท่าเรือลง ผลักดันการลงทุนและนวัตกรรม: ให้คำแนะนำต่อหน่วยงานและภาคธุรกิจเกี่ยวกับวิธีลดขยะพลาสติก ณ แหล่งผลิต โดยจะมีการสนับสนุนนวัตกรรมผ่านกองทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการการพัฒนาวัสดุพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างชาญฉลาด และยกระดับความสามารถในการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถกำจัดสารอันตรายและสิ่งปนเปื้อน รวมทั้งสามารถติดตามได้ กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก: กิจกรรมใน EU จะถูกขยายผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรจากทั่วโลก เพื่อหาทางแนวทางแก้ปัญหาระดับโลกและพัฒนามาตรฐานสากล นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

1-4

ฟรานซ์ ทิมเมอร์แมนส์ รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ระบุไว้ว่า หากเราไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและใช้พลาสติกตั้งแต่ตอนนี้ ภายใน ค.ศ.2050 มหาสมุทรของเราจะมีปริมาณพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาเสียอีก

ที่มา:https://greennews.agency/?p=18069