Admin 4 ต.ค. 2561

ไทยพร้อมรับมือสึนามิอีกครั้งแค่ไหน

คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 คนไปแล้ว ก่อให้เกิดความสงสัยในประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยสึนามิที่มีอยู่ และเมื่อย้อนมองกลับมายังประเทศไทยซึ่งเคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ก็เกิดคำถามคล้ายคลึงกันว่าระบบเตือนภัยสึนามิมีประสิทธิภาพเพียงไร

ในขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยืนยันว่าระบบมีประสิทธิภาพ แต่คนในบางชุมชนที่เคยเผชิญเหตุมาก่อนกลับระบุว่าระบบการอพยพ ย้ายคนไปสู่ที่ปลอดภัย และเส้นทางการอพยพอาจมีปัญหา

1-1
ความเสียหายบนเกาะพีพีหลังคลื่นสึนามิเข้าถล่มในปี 2547


ระบบเตือนภัยของไทย

นายศุภภิมิตร เปาริก ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่าระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิของไทยนั้นอยู่ในสภาพพร้อม และมีการตรวจสอบประสิทธิภาพอยู่เสมอ ซึ่งระบบประกอบไปด้วยฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ทะเลลึก และทุ่นลอยส่งสัญญาณผิวทะเล 2 แห่ง และมีการใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบเพื่อทำนายแนวโน้มของการเกิดคลื่นสึนามิจากข้อมูลที่ได้มา แล้วแจ้งให้ศูนย์เตือนภัยตามชายฝั่งทะเลต่าง ๆ ทราบ เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นเตรียมตัวอพยพหนีภัยได้ทันเวลา

"ทุ่นลอย 2 แห่งนี้ ตัวแรกอยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 1,000 กม. ตัวที่ 2 อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 300 กม. ถ้ามีการเตือนภัยจากทุ่นลอยตัวแรก คนบนฝั่งจะมีเวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งสำหรับการอพยพ และหากมีสัญญาณเตือนมาจากทุ่นตัวที่ 2 จะมีเวลาอพยพราว 45 นาที" เขากล่าว

1-2
หอเตือนภัย


นอกจากทุ่น 2 ตัวนี้แล้วก็ยังมีเครือข่ายทุ่นตรวจจับของประเทศต่าง ๆ ที่วางในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย ซึ่งสามารถให้ข้อมูลแรงสะเทือนที่เกิดตามที่ต่าง ๆ ได้

และก็มียังมีสถานีวัดระดับน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งจะสามารถวัดได้เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งข้อมูลมายืนยันว่าจะเกิดสึนามิอย่างแท้จริง

"หากว่าเกิดในฝั่งอันดามัน เราก็มีสถานีวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง จ.พังงาที่จะส่งสัญญาณเตือนเข้ามาในระบบเตือนภัยสึนามิ ซึ่งจะช่วยยืนยันว่ากำลังจะเกิดสึนามิแล้ว" เขากล่าว

ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก่อนที่จะถูกส่งออกไปยังศูนย์เตือนภัยชายฝั่งต่าง ๆ ที่เตือนคนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทั้งเป็นเสียงสัญญาณ และคำพูดที่เป็นภาษาต่าง ๆ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้อพยพไปที่สูงได้ทันท่วงที

"ศูนย์เตือนภัยชายฝั่งได้รับการซ่อมแซมและทำนุบำรุงให้ใช้งานได้อยู่เสมอ และมีการทดสอบว่าระบบเตือนใช้ได้หรือไม่อยู่ทุกวันพุธ โดยจะมีการกระจายเสียงเป็นเพลงชาติในตอนเช้าให้ชุมชนต่าง ๆ ได้ยิน หากว่าไม่ได้ยิน หรือเสียหาย ชุมชนก็จะรายงานเข้ามา ทางหน่วยราชการก็จะไปซ่อมแซม" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ผอ. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่ากรณีของอินโดนีเซียที่เพิ่งผ่านมานั้นเป็นสึนามิที่เกิดขึ้นบนพื้นดิน ซึ่งอาจทำให้แผ่นดินถล่มใต้ทะเลใกล้ชายฝั่ง และก่อให้เกิดเป็นคลื่นสึนามิย้อนกลับมาสู่ฝั่ง การเกิดใกล้ชายฝั่ง ทำให้ทุ่นกลางทะเลไม่สามารถตรวจจับได้ แต่สถานีตรวจวัดระดับน้ำตรวจได้และมีการประกาศเตือนสึนามิออกไป "แต่ไม่นานก็ยกเลิกประกาศไป ซึ่งผมก็ไม่มีข้อมูลเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน"

เขากล่าวอีกว่าหากกรณีนี้เกิดขึ้นกับไทย เชื่อว่าสถานีตรวจระดับน้ำทะเล เช่น สถานีที่เกาะเมียง จะสามารถตรวจจับระดับน้ำที่ลดลงได้ และส่งข้อมูลออกมาเพื่อให้ทางศูนย์ฯ ออกคำเตือนไปยังประชาชนก่อนที่จะเกิดสึนามิ

ประสบการณ์ที่ยังคงหลอกหลอน

"ทุกวันนี้ เวลาผมได้ยินเรื่องสึนามิที่เกิดขึ้นตามที่ต่าง ๆ อย่างเช่นอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นไม่กี่วันนี้ ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ตามมาหลอกหลอน" วินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน จ. ภูเก็ต ที่เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งของไทยจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 รายกล่าวกับบีบีซีไทย

สิ่งที่เขารู้สึกก็คือการมีศูนย์เตือนภัยตามที่ต่าง ๆ นั้นก็ไม่เพียงพอ เพราะยังต้องมีระบบอื่น ๆ ที่สอดประสานกันอย่างเช่น ระบบการสื่อสารระหว่างประชาชน ระบบการอพยพเคลื่อนย้ายคน เส้นทางการเคลื่อนย้ายที่สามารถทำได้โดยสะดวก

1-3
นักท่องเที่ยวกำลังวิ่งหนีคลื่นที่โถมเข้ามาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่หาดไรเลย์ กระบี่ AFP/Getty Images


"ในฐานะที่บ้านผมอยู่ห่างจากหาดกะรนเพียง 300 เมตร ทำให้ผมรู้สึกว่าควรจะมีระบบการเตือนภัยและการอพยพคนขึ้นสู่ที่สูงให้ดีกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ที่หาดกะรนนั้นไม่มีป้ายที่ชัดเจนอธิบายแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่าหากเกิดสึนามิขึ้น ควรจะหนีไปทางไหนจึงจะปลอดภัย และควรมีระบบการกระจายเสียงตามสายเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนที่กำลังตื่นตระหนกว่าควรทำอย่างไร เพราะตอนนี้คนก็เพิ่มขึ้น รถรา อาคารบ้านเรือนก็หนาแน่น การควบคุมและสื่อสารคนที่ตื่นตระหนกมีความจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งควรมีการปรับปรุงสถานที่พักอาศัยชั่วคราวให้มีความพร้อมมากขึ้นด้วยเพื่อรองรับเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา" นายวินัยกล่าว

เมื่อถามว่าเขาอยู่ที่ไหน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 วินัยกล่าวว่าเขาโชคดีมากที่ไม่ได้ไปอยู่ที่หาดกะรนในเช้าวันนั้น

"ปกติผมจะไปกินกาแฟและนั่งคุยกับเพื่อนบ้านที่ชายหาดทุกวันเสาร์ แต่วันนั้นผมต้องไปเรียนหนังสือ เรียนอะไรก็จำไม่ได้ สักพักเพื่อนผมที่อยู่ที่สูงเหนือหาดกะรน ก็โทร. มาบอกว่าให้รีบกลับบ้าน พายุกำลังหอบน้ำทะเลซัดเข้ามาทางหาดกะรน ระหว่างทางกลับบ้านผมก็พยายามบอกทุกคนที่เจอว่าพายุจากทะเลพัดเข้าฝั่ง ไม่มีใครเชื่อผมเลย ท้องฟ้าใสมากไม่มีวี่แววพายุ เพราะตอนนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องสึนามิกันเลย"

เมื่อไปถึงบ้านก็เห็นน้ำทะเลยกสูงเป็นแนวเข้าสู่ฝั่ง เขาบอกให้คนในครอบครัวและเพื่อนบ้านวิ่งหนีขึ้นที่สูง

"หาดกะรนจะมีสันทรายกั้นระหว่างทะเลกับบ้านคน สันทรายเป็นตัวช่วยสกัดไว้ก่อน เราก็เห็นน้ำเอ่อขึ้นแล้วล้นข้ามสันทรายมาอย่างรวดเร็ว แต่มันก็เพียงพอให้เราหนีขึ้นที่สูงได้" แม้กระนั้นก็ยังมีผู้เสียชีวิตสิบกว่ารายที่หาดกะรนในเหตุการณ์ดังกล่าว

"หลังจากเหตุการณ์นั้น ก็มีการประชุมหารือว่าเราควรทำอย่างไรหากเกิดเหตุอีกครั้ง ซึ่งก็มีการทำป้าย หอสัญญาณเตือนภัย รวมทั้งเส้นทางหนีขึ้นเขาที่อยู่ใกล้ แต่ปัจจุบันนี้ ทุกอย่างก็ผุพังเสียหายไป เส้นทางที่ควรจะมีก็ไม่ได้ทำขึ้นจนเสร็จเพราะติดปัญหาหลายประการ" วินัยกล่าวและบอกว่าจากเรื่องสึนามิที่เกาะสุลาเวสีทำให้เขาเห็นว่าควรจะต้องยกระดับการเรียกร้องให้มีการทำนุบำรุงเส้นทางอพยพ หรืออุปกรณ์การสื่อสารระหว่างกันให้มากขึ้น และเขามีแผนที่จะได้หารือกับทางหน่วยงานราชการในวันพรุ่งนี้

เครือข่ายเตือนภัยอันดามัน

1-4
เจ้าหน้าที่กำลังเช็คระบบเตือนภัยสึนามิที่่หาดป่าตอง จ. ภูเก็ต สึนามิปี 2547 ทำให้มีคนเสียชีวิตในไทยถึง 5,395 คน


ศรัญพักตร์ ตันติวงศ์ไพศาล เครือข่ายเพื่อนเตือนภัยจังหวัดภูเก็ต (วิทยุสมัครเล่น) กล่าวว่าประชาชนที่อยู่ชายหาดในจังหวัดที่เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ อย่างเช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ฯ ต่างก็รวมตัวกันขึ้นเป็นเครือข่ายเพื่อนเตือนภัยอันดามัน ซึ่งสื่อสารกันโดยใช้แอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงกับสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวโดยตรง

"หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาจะมีคำเตือนส่งมาทางไลน์ของกลุ่ม ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ไหน ความลึกเท่าไร จะมีผลกระทบหรือไม่ กรณีที่มีผลกระทบ มีความเป็นไปได้ที่จะมีสึนามิ ก็จะมีเครือข่ายของเราที่เป็นประชาชนตามชายหาดอย่างเช่น กมลา ป่าตอง ราไว ไปแจ้งเตือนสมาชิกคนอื่น ๆ และสมาชิกก็จะไปแจ้งเตือนบ้านข้าง ๆ อีกทีหนึ่ง" เธอกล่าว

นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้วิทยุสื่อสาร โดยสมาชิกที่เป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะได้รับการอบรมจากหน่วยงานราชการ โดยใช้คลื่น 145.00 เมกกะเฮิร์ซ เพื่อรายงานสถานการณ์ รวมทั้งประสานงานกับ หน่วยงานราชการในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้นไม่เฉพาะแต่สึนามิเท่านั้น

"ตามชายหาดต่าง ๆ ของภูเก็ต ก็จะมีป้ายต่าง ๆ อย่างเช่นระบุว่าเป็นสถานที่หลบภัยสึนามิ แต่ก็อาจมีป้ายที่ชำรุดไม่ชัดเจนได้บ้างเหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นคนในพื้นที่ก็น่าจะทราบว่าควรจะไปทางไหนเพื่อจะปลอดภัย และน่าจะบอกกับนักท่องเที่ยวได้ และคนที่ทำงานด้านบริการท่องเที่ยวในภูเก็ตก็คิดว่าจะได้รับการอบรมมาบ้าง และสามารถสื่อสารช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้หากเกิดเหตุ"

อย่างไรก็ตามเธอก็เห็นว่าปัจจุบันภูเก็ต มีจำนวนประชาชน อาคารและรถยนต์มากกว่าในปี 2547 มาก ดังนั้นจึงจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายหากว่าจะต้องมีการอพยพขึ้นมา "เราต้องมีความพร้อม มีความตื่นตัว แต่ไม่ตระหนก"



ที่มา:https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_1634845