Admin 21 ก.ย. 2561

ใครครอบครองกระดูกโรนินต้องแจ้ง "กรมประมง"


"ปลาโรนิน" หรือ ปลากระเบนท้องน้ำ ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 4 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2561 และตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2561 ผู้ใดมีเครื่องประดับที่ทำจากกระดูกปลาโรนินแล้วไม่ไปแจ้งครอบครองจะถูกจับปรับ 40,000 บาท

2-1

จากความเชื่อเรื่องโชคลางที่อยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้เราได้เห็นการนำชิ้นส่วนจากสัตว์มาทำเครื่องประดับ มาพกเป็นเครื่องรางของขลัง หนึ่งในนั้นคือ กระดูกปลาโรนิน สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มที ด้วยความเชื่อที่ว่าเอาไว้ป้องกันภัยทางน้ำ หรือช่วยให้แคล้วคลาดจากพายุทะเล โดยจะนิยมนำมาทำเป็นหัวแหวน ข้อมือ เป็นต้น ที่สำคัญคือราคาไม่แพง

ปลาโรนิน จะมีลักษณะส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูง เป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนาม ตรงกลางหลังด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน พื้นผิวลำตัวด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจางๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ด้านท้องมีสีขาว ยิ่งโดยเฉพาะปลาวัยอ่อนจะมีลวดลายที่มากกว่าปลาตัวโต ขนาดโตเต็มที่มีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 135 กิโลกรัม ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน

2-2

ซึ่งในท้องทะเลไทย ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2558 เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ภาพปลาตัวหนึ่ง พร้อมข้อความว่า "พบปลาโรนิน หายาก ที่ระยอง" ยาว 1.50 เมตร น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม พบโดยชาวบ้านบริเวณปากน้ำประแส จ.ระยอง

แต่อีกครั้งที่น่าเศร้าใจคือ พบบนแผงขายปลาทะเลในตลาด จ.ภูเก็ต ด้วยราคาตัว 8,000 บาท

และครั้งหนึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ธรณ์?ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม?ได้กล่าวถึงความหายากและใกล้สูญพันธ์ของปลาชนิดนี้ ว่า "โรนินเป็นปลาหายากมาก ทั้งชีวิตผมเคยเห็นใต้น้ำเพียงหนเดียว ถามนักดำน้ำด้วยกัน เท่าที่รู้มีคนเคยเห็นเพียง 3-4 ราย และเป็นสมัยก่อนทั้งนั้น เพราะปัจจุบัน ปริมาณโรนินน้อยลงจนแทบไม่มีข้อมูล"

2-3

แสดงให้เห็นว่า ปลาโรนินกำลังจะหายไปจากท้องทะเลจนแทบไม่เหลือไม่ใช่แค่ที่ทะเลไทย แต่แหล่งที่อยู่อย่าง ทะเลแดง, แอฟริกาตะวันออก, ญี่ปุ่นตอนใต้, ปาปัวนิวกินี ก็หายากมากในปัจจุบัน

ดังนั้น การออกประกาศให้ผู้ที่มีเครื่องประดับจากมาโรนินมาแจ้งครอบครองกับกรมประมง ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการหยุดซื้อขาย หยุดล่า ปลาชนิดนี้ที่แทบจะไม่เหลืออีกแล้ว

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chalit Sa Nga Ngam เจ้าหน้าที่กรมประมง ได้โพสต์ข้อมูล ของการเข้าแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ว่า

ให้นำรูปภาพ หรือของจริง ไปแจ้งครอบครองที่สำนักงานประมงจังหวัดแหวนหัวกระเบนท้องน้ำ ที่มีขายทั่วไป เป็นส่วนหนามบนหัวปลาโรนิน ซึ่งปัจจุบันถูกประกาศ เป็นสัตว์คุ้มครองแล้ว

"หลัง 30 พ.ย.2561 จะถูกจับปรับ 40,000 บาท หากไม่มีหนังสือการครอบครอง"

โดยกรมประมงจะเปิดรับแจ้งครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 และให้วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เป็นวันสุดท้ายของการรับแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว

เอกสารหลักฐานที่ใช้

1.บัตรประจำตัวประชาขนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้

2.ทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้าน

3.ซาก/ผลิตภัณฑ์หรือภาพถ่ายซากหรือผลิตภัณฑ์สัตว์สงวนที่ประสงค์จดแจ้ง

ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เกษตรกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครสำหรับในท้องที่จังหวัดอื่นๆ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในท้องที่นั้นๆ

2-4

สุดท้ายแล้วคงอยากจะบอกเพียงว่า...

"สิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าคนหรือสัตว์ย่อมรักชีวิตตัวเอง ต้องการความปลอดภัย ต้องการได้รับความคุ้มครองดูแล แต่การคุ้มครองดูแลจักต้องไม่ไปเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นเพียงเพื่อมาคุ้มครองชีวิตตัวเอง"

ที่มา:https://www.pptvhd36.com