Admin 3 ก.ย. 2561

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกสนับสนุนไทยลดโลกร้อน

1-1

ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) หมายถึง การที่ความร้อนจาก ดวงอาทิตย์ผ่านเข้ามาในโลกแต่ไม่สามารถออกไปจากโลกได้เนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลก มีก๊าซบางชนิดปกคลุมอยู่ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอนมากกว่าสมดุลตามปกติของธรรมชาติ เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ไปเพิ่มปริมาณก๊าซดังกล่าวให้มากขึ้น ซ้ำร้ายก๊าซบางชนิดยังทำลายบรรยากาศชั้นโอโซนของโลก ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์เข้ามามากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ในระดับนานาชาติจึงมีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ก๊าซเรือนกระจกมักถูกปล่อยจากบรรดาประเทศที่ใช้อุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติให้จัดตั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ขึ้น เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาโครงการที่จะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กลไก การพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM)

โครงการลดก๊าซเรือนกระจก 3 อันดับโครงการยอดนิยม อันดับ 1 พลังงานทางเลือก (Alternative Energy : AE) เช่น กังหันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น อันดับ 2 การจัดการขยะและ ของเสีย (Waste Management) นำมาผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียน อันดับ 3 การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า (Energy Efficiency) นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้วยังมีผู้ประกอบการโรงแรมรวมถึงธนาคารเข้าร่วมด้วย และยังมีโครงการประเภทอื่น ๆ เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ป่า (Forest) การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Agriculture) ทั้งนี้ แนวโน้มในทางสากล มีความเป็นไปได้ที่ตลาดคาร์บอนเครดิตจะกลับมามีมูลค่าสูงหลังปี 2563 สืบเนื่องจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2558 ประเทศต่าง ๆ มีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดให้สายการบินซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน

ถึงกระนั้น แนวโน้มของตลาดคาร์บอนในอนาคตแต่ละประเทศอาจมีตลาดของตนเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ แต่ตลาดคาร์บอนของชาติต่าง ๆ อาจเชื่อมโยงกันเพื่อให้แต่ละประเทศสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ ซึ่งต้องรอความชัดเจนในการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศของความตกลงปารีสเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้แนวทางราวปลายปี 2561

ทีมา:http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNRPT6108300010004