Admin 21 ส.ค. 2561

ขยะพลาสติกเกลื่อนเขาดิน! ตอกย้ำการขอความร่วมมือ..ไม่เคยใช้ได้กับคนไทย

เป็นการแจ้งเหตุ ณ สวนสัตว์ เขาดินวนา ซึ่งสะท้อนว่า “ขยะพลาสติก” หากไม่มีการบังคับ และลงโทษทางกฎหมาย คงยากจะเปลี่ยนคนทุกคนให้ความร่วมมือ 1-1

โพสต์บนเฟซบุ๊ก ReReef บอกถึงพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทยอย่างไม่รับผิดชอบ นี่ขนาดว่ามาตรการของทส. เพิ่งออกมาขีดเส้นตายหยกๆ เมื่อ 12 ส.ค.นี้ แต่ใครๆ เห็นภาพขยะพลาสติก ถังขยะที่จัดไว้ ให้เป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องบอกว่า..ทส.จะเอาอยู่เหรอ!

ก่อนอื่นต้องออกตัวแรงๆ ว่าโพสต์นี้ไม่ได้ต้องการโจมตีใคร แต่อยากสะท้อนความยากลำบากของการลดขยะพลาสติกด้วยการขอความร่วมมือ

วันนี้ได้มีโอกาสไปร่ำลาสวนสัตว์ดุสิต เขาดินวนา สวนพฤกษศาสตร์และสวนสัตว์สาธารณะแห่งแรกของเมืองไทยที่มีประวัติการก่อตั้งมากว่าร้อยปี เชื่อว่าหลายคนคงผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ ข่าวการจะปิดให้บริการสิ้นเดือนสิงหาคม และย้ายสวนสัตว์ไปบริเวณรังสิต ทำให้ผู้คนพาหลงไหลกันมาเยี่ยมเขาดินเป็นครั้งสุดท้าย

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ผู้คนจึงมากมายเป็นพิเศษ แต่ถ้าทุกคนจำได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลองค์การสวนสัตว์ ได้ประกาศว่า สวนสัตว์สาธารณะทั้ง 7 แห่งจะเป็นพื้นที่ปลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยจะเริ่มจากถุงพลาสติกหูหิ้วและกล่องโฟม นโยบายเดียวกันนี้ยังใช้กับรวมทั้งอุทยานแห่งชาติ 154 แห่งอีกด้วย โดยกำหนดวันดีเดย์ไว้ตั้งแต่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา

ความจริงก็ไม่ได้คาดหวังว่าสวนสัตว์ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขนาดนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแบบไร้พลาสติกได้ในชั่วข้ามคืน แต่ก็ยังแอบหวังว่าจะมีความพยายามลดขยะพลาสติกลงบ้าง

อาจเป็นเพราะสวนสัตว์ดุสิตกำลังจะปิดตัวสิ้นเดือนนี้อยู่แล้ว อาจเป็นเพราะเป็นวันอาทิตย์ที่นักท่องเที่ยวมากมายกว่าปกติ อาจเป็นเพราะร้านรวงต่างๆทุกร้านยังคงเคยชินกับการแจกถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ขยะพลาสติกจึงมากมาย ล้นหลามอย่างที่เห็น

การทิ้งขยะของคนไทยยังเป็นอะไรที่น่าหมดหวังมากๆ ในถังที่ระบุว่าขยะย่อยสลายได้ ขยะพิษอันตราย ก็เต็มไปด้วยขยะพลาสติก เอาเข้าจริงๆขยะส่วนใหญ่ของทุกถังก็คือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) ทั้งสิ้น

1-2

สอบถามเจ้าหน้าที่ก็ได้ความว่าได้พยายามขอความร่วมมือแล้วแต่ผลก็เป็นอย่างที่เห็น จึงคิดว่าควรต้องมีมาตรการอื่นๆ ที่เข้มงวดกว่านี้ควบคู่กันด้วย สวนสัตว์เป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของสาธารณะ จึงหวังว่าทางองค์การสวนสัตว์จะได้ผนวกเอาเรื่องการจัดการขยะมาเป็นเรื่องหลักอีกเรื่องหนึ่งในการจัดการสวนสัตว์ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานและทำการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ให้คนที่จะมาเที่ยวได้เตรียมตัวให้พร้อม พกพากระบอกน้ำ ถุงผ้า ภาชนะบรรจุอาหารมาเอง และติดตั้งจุดเติมน้ำให้ทั่วบริเวณ

นอกจากนี้ยังควรเข้าไปสนับสนุนร้านค้าให้ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นแบบย่อยสลายได้ และพยายามลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้น้อยที่สุด ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้

อยากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะนโยบายลดการใช้พลาสติกโดยเริ่มที่หน่วยงานรัฐ และในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัฐเป็นนโยบายที่ดีมากๆ และมีความหวังในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยที่สุด

ฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และได้เห็นสวนสัตว์ไทย มีมาตรฐานระดับโลก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเยาวชนไทยตราบนานเท่านาน ด้วยรักและปรารถนาดีจริงๆ

ที่มา:https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000083014