Admin 15 ส.ค. 2561

กรมโยธาฯ ทุ่ม 20 ล้าน ทำผังรายละเอียดสิ่งแวดล้อมท่าเรือแหลมบาลีฮาย สู่ท่าเรือท่องเที่ยวสากล

โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ออกแบบรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 รวมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยกระดับสู่ท่าเรือท่องเที่ยวสากล คาดใช้งบพัฒนากว่า 500 ล้านบาท

1-1

นายอธิราช กนกเวชยันต์ โยธาธิการและยังเมืองจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายใหม่ ในระยะที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมไอยรา แกรนด์ พัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาให้แก่เมืองพัทยา สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสากลระดับโลก ภายใต้คำนิยาม ?เมืองท่องเที่ยวแห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม? (The world class greenovative tourism city)

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย เป็นท่าเรือที่ก่อสร้างมานาน จนมีความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดความคับคั่ง โดยเฉพาะในบางช่วงเวลา หรือวันหยุดต่อเนื่อง นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายเดิม ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ทั้งการเทียบเรือ และการขึ้นลงของนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่

1-2

กรณีดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี จึงได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 20 ล้านบาท ว่าจ้างให้บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการฯ รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม และการสำรวจเพื่อออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย และโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมระยะเวลา 500 วัน โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 พร้อมจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2560

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งที่ 2 นี้ เป็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากขอบเขตที่ตั้งโครงการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตการปกครองพิเศษเมืองพัทยา และเทศบาลเมืองหนองปรือ รวมถึงพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการเดินทางจากท่าเรือของโครงการ

โดยมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 สู่การพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งท่าเรือใหม่ที่ออกแบบจะเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัย มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับนักท่องเที่ยว และเรือที่เข้ามาใช้บริการท่าเทียบเรือ

1-3

นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าเทียบท่า และการขึ้นลงของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยมีขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวสูงสุดต่อวันประมาณ 50,000 คน ขณะที่ท่าเทียบเรือปัจจุบันสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 30,000 คนต่อวัน

ส่วนแนวคิดในการออกแบบท่าเทียบเรือของโครงการในแต่ละทางเลือกนั้น จะพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นต่างๆ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ ร่องน้ำ คลื่น ลม และกระแสน้ำ เป็นต้น รวมถึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด ทั้งในช่วงก่อสร้างและดำเนินการ ทั้งนี้ โครงการในแต่ละทางเลือกนั้นจะมีแนวคิดในการออกแบบเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน โดยท่าเรือใหม่จะทำการก่อสร้างคู่ขนานท่าเรือเก่า ซึ่งมีการออกแบบท่าเรือไว้ จำนวน 3 รูปแบบ ซึ่งมีลักษณะทางกายวิภาคแตกต่างกันในระยะความยาว 470-570 เมตร แต่จะมีองค์ประกอบสำคัญ

เช่น ท่าเทียบเรือสำหรับเรือเฟอร์รี่ 4 ท่า ท่าเทียบเรือสำหรับเรือโดยสารไปเกาะล้าน 4 ท่า ท่าเทียบเรือสำหรับเรือเช่าเหมาลำ 6 ท่า ท่าเทียบเรือสำหรับเรือ Speed Boat 8 ท่า และท่าเทียบเรือสำหรับเรือราชการ หรือเรือยอชต์ 2 ท่า ดังนั้น การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา การกำหนดขอบเขต และแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ที่มา:https://mgronline.com/local/detail/9610000080905