Admin 25 ก.ค. 2561

คืนปูม้าสู่ทะเลไทย ชาวเลลงมือ รัฐสนับสนุน

1-1

"ชาวบ้านพุมเรียง มีอาชีพหลักทำประมงพื้นบ้านมีรายได้หลักจากากรจับปูม้าขาย ออกเรือห่างฝั่ง 2-3 ไมล์ทะเล แล้วใช้อวนลาก อวนรุน จับปูม้าที่อยู่ใกล้ชายฝั่งตัวเล็กตัวใหญ่จับได้หมด แต่ละครั้งได้ปูม้า 30-50 กก.กระทั่งปี 2548 ราคาน้ำมันเร่ิมแพงขึ้น จำนวนปูม้าในธรรมชาติเร่ิมน้อยลง บางครั้งออกเรือได้ปูไม่ถึง 10 กก. แทบไม่คุ้มค่าน้ำมัน"

นายจรินทร์ เฉยเชยชม ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น การทำประมงชายฝั่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เผยว่า ปูม้าในธรรมชาติเร่ิมน้อยลง สาเหตุมาจากสภาพอากาศ เครื่องมือและการทำประมงที่ผิดๆ การออกเรือถี่จับปูไม่เลือกปูตัวเล็กปูไข่จับหมด และพฤติกรรมการบริโภคที่ผิด ชอบกินปูไข่นอกกระดอง จึงทำให้ปูม้าในทะเลลดลง หากขืนปล่อยให้เป็นแบบนี้ รุ่นลูกรุ่นหลานจะอยู่และทำประมงชายฝั่งกันไม่ได้

"ชาวบ้านในชุมชน จึงช่วยกันหาวิธีฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้กับปูม้าในพุมเรียง ทั้งปลูกป่าชายเลน งดจับปูตัวเล็ก ไม่จับปูไข่ ช่วงปี 2549 นายเสน่ห์ รัตนสำเนียงเจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน สนง.ประมง จ.สุราษฎร์ธานี รู้ว่ามีโครงการที่ชาวบ้านร่วมกันคิดร่วมกันทำ จึงเข้าร่วมด้วยช่วยประสานงานกับภาครัฐ ลำพังชาวบ้านคงไปไม่รอด เพราะไม่มีทุน ช่วงแรกเราช่วยกันปลูกป่าปลูกหญ้าชายเล บ้านไหนพอมีอุปกรณ์อย่างกระชัง ทุ่น ที่ไม่ใช้งานจะนำมาบริจาค เพื่อสร้างกระชั่งปลาบริเวณหัวอ่าวพุมเรียง เตรียมสำหรับเพาะเลี้ยงปูม้าไข่"

การสร้างกระชังเพื่อรวบรวมปูม้าไข่นอกกระดองไว้ปากอ่าว นายเสน่ห์ บอกว่า จะมีอุปสรรคในเรื่องทิศทางลม และการเดินทางดูแล เทศบาลพุมเรียงจึงสนับสนุนเครื่องมือเพิ่ม แล้วย้ายกระชังปูมาอยู่ในชุมชน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคีสนับสนุนถังฟัก แอร์ปั๊มเติมอากาศ บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย สนับสนุน โซล่าเซลล์

ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศึกษาวิจัยการเลี้ยงวัฏจักรวงจรชีวิต แล้วนำความรู้มาส่งต่ออบรมให้ชาวบ้าน ทุกอย่างที่มาถึงธนาคารปูม้า จะเป็นอุปกรณ์ แต่ไม่มีเงินทุน ทุกกิจกรรมจึงต้องใช้จิตอาสา ตั้งแต่การออกไปรับปูม้าจากเรือประมงชาวบ้าน เพื่อนำแม่ปูไข่นอกกระดอง มาเลี้ยงในธนาคาร แม่ปูม้า 1 ตัว ไข่ 500,000-900,000 ฟอง

ปูม้าที่ชาวประมงนำมาเข้าโครงการ จะเลี้ยงไว้ 5-7 วัน หลังปูสลัดไข่ ใครใคร่รับแม่ปูกลับไป ให้ธนาคารขายเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการ หรือปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ...แล้วแต่ผู้นำมาบริจาคจะเลือก ส่วนลูกปูม้า จะเลี้ยงต่อกระทั่งมองเห็นรูปร่างมีก้าม มีขา ขนาดเท่าหัวไม้ขีด จะปล่อยคืนสู่ท้องทะเล

จากการฟื้นฟู 12 ปี วันนี้การออกเรือแต่ละครั้งเร่ิมได้ปูม้าจำนวนมากเหมือนก่อน หากแต่หนนี้ชาวเลบ้านพุมเรียง จะคัดปูม้าขนาดเล็กที่มีความกว้างกระดองต่ำกว่า 10 ซม. (18 ตัว/กก.)ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่วนปูไข่นำเข้าธนาคาร เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้ปูม้าสู่ท้องทะเลไทย

ด้าน นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อครม.จึงมีมติให้ วช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก ขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" ด้วยการนำงานวิจัยส่งเสริมสนับสนุนชุมชนบริเวณชายฝั่งและชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้วิธีกระบวนการที่จะทำให้ลูกปูม้ามีอัตราการรอดมากที่สุดก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล

โดยปี 2561 ตั้งเป้าในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 300 ชุมชน และปี 2562 อีกจำนวน 200 ชุมชน

ที่มา:https://www.thairath.co.th/content/1341138