Admin 13 ก.ค. 2561

กรีนพีช แฉ "ปริมาณขยะพลาสติกในแอนตาร์กติกา" ตอกย้ำปัญหาระดับโลก

1-1

รายงานของรอยเตอร์เผยข้อมูลที่นักกิจกรรมของกรีนพีช 2 คน ออกมาพูดถึงปริมาณของขยะพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่พบในบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของแอนตาร์กติกาในปีนี้ เพื่อเพิ่มหลักฐานที่สะท้อนปัญหาระดับโลกด้านมลภาวะที่ได้แผ่ขยายออกไปยังพื้นที่ขั้วโลกอย่างน่าวิตก

ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าขยะขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า microplastics ที่มาจากผลิตภัณฑ์พลาสติกแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตั้งแต่ถุงพลาสติกไปถึงยางรถยนต์ ถูกตรวจจับได้ในตัวอย่างของน้ำจาก 9 จาก 17 แหล่งน้ำหลักของพื้นที่แอนตาร์กติก เมื่อต้นปี 2018 และจากตัวอย่างของหิมะ จาก 9 ตัวอย่าง จากพื้นดินในแอนตาร์กติกาพบสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

เรื่องนี้หน่วยงานตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า มลภาวะขยะพลาสติกได้ถูกตรวจพบและติดตามการไหลจากอาร์กติกถึงแอนตาร์กติกา แม้แต่ในร่องลึกมาริอานาส่วนที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิก และประเมินได้ว่าไม่ถึง 1 ใน 10 ของมลภาวะขยะพลาสติกทั้งหมดที่ถูกรีไซเคิล ดังนั้นรัฐบาลประเทศต่างๆ ควรจริงจังในการแบน หรือเก็บภาษีมลภาวะขยะพลาสติกที่ใช้บรรจุสิ่งของและอาหาร เพื่อแสดงความตั้งใจในการบริหารมลภาวะขยะพลาสติก

เมื่อปีที่แล้ว นักวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Hull และ British Antarctic Survey ก็พบว่าระดับของไมโครพลาสติกในแอนตาร์กติกาสูงกว่าปกติ 5 เท่าของปริมาณที่คาดไว้ ซึ่งส่อถึงระดับความรุนแรงของปัญหาโลกจนน่าวิตก

1-2

สิ่งที่พบจากพื้นที่การสำรวจวิจัย

ประการแรก มลภาวะขยะพลาสติกได้ขยายวงกว้างออกไปครอบคลุมมหาสมุทรทางใต้ทั้งหมดแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีความหวังว่าพื้นที่มหาสมุทรส่วนนี้จะเป็นกำแพงกั้นไม่ให้มลภาวะขยะพลาสติกที่มาจากน้ำมือมนุษย์เข้าไปถึงได้ และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยชีวิตของสัตว์น้ำในระยะยาวรุนแรงจนไม่อาจจะประเมินได้อีกต่อไป

ประการที่สอง ในอีกส่วนหนึ่งของขั้วโลก นักวิจัยในเยอรมนีออกรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า น้ำแข็งในทะเลที่เคลื่อนตัวอยู่ในพื้นที่มหาสมุทรอาร์กติก ประกอบด้วยมลภาวะขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ซึ่งสามารถพบเห็นได้เมื่อขนาดของน้ำแข็งบางลงจากภาวะโลกร้อน และมลภาวะขยะพลาสติกเหล่านี้จะอยู่ในโลกอีกหลายร้อยปีข้างหน้า

ประการที่สาม มลภาวะขยะพลาสติกที่เป็นไมโครพลาสติกเหล่านี้ จะเข้ามาสู่วงจรของห่วงโซ่อาหารมากขึ้นผ่านการบริโภคปลาและสัตว์น้ำในอนาคต

ประการที่สี่ ผลการสำรวจล่าสุดและเปิดเผยในวันWorld Ocean Dayพบว่า ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลายเป็นทะเลของขยะไมโครพลาสติกไปแล้ว และเป็นทะเลที่มีสภาพปัญหาร้ายแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นจุดที่ต้องทำกิจกรรมทำความสะอาดอย่างเป็นระบบโดยเร่งด่วน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่ในส่วนนี้ โดยมีปริมาณมากกว่า 5 ล้านเมตริกตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เทียบกับทะเลเปิดอื่นๆ และคิดเป็น 95% ของขยะทุกประเภทในทะเลแห่งนี้ ส่วนใหญ่มาจากขยะพลาสติกจากห่วงโซ่อาหาร จากพื้นที่ตุรกีและสเปน รองลงมาคือจากอียิปต์และฝรั่งเศสตามลำดับ จนอยู่ในข่ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ระดับรุนแรงแล้ว

ประการที่ห้า ทั่วโลก โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยังขาดการทำกิจกรรมการส่งเสริมกระตุ้นการรีไซเคิล การห้ามใช้ถุง ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และการห้ามใช้ไมโครพลาสติกในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งหลาย

จะเห็นว่าสิ่งที่คนทั่วโลกต้องตระหนักอย่างจริงจังต่อจากนี้คือ ?ขยะพลาสติก? โดยเฉพาะไมโครพลาสติกนั้นเป็นภัยคุกคามด้านสภาพแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดของโลก เพราะขยะพลาสติกโดยเฉพาะไมโครพลาสติกเหล่านี้ท่วมโลกอย่างรวดเร็ว และมากกว่าจำนวนดวงดาวทั้งหมดในกาแลกซี และขยายไปทั่วทุกมุมของทะเลแล้ว

ปริมาณขยะพลาสติกโดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่กระจายออกไปและท่วมท้นทุกปี ได้คร่าชีวิตสัตว์น้ำและทำลายระบบนิเวศของทะเลในแต่ละปีรุนแรงขึ้น จนกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต

1-3

ข้อมูล "พลาสติก" เมื่อวัน World Ocean Day (8 มิ.ย.2018)

จำนวนพลาสติกไปจบที่การทิ้งในทะเลแต่ละปี 8 ล้านตัน ปริมาณความเสียหายที่พลาสติกสร้างในทะเลในแต่ละปี 8000 ล้านดอลลาร์ ปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้กันทั่วโลกในแต่ละปี 5 ล้านล้านใบ ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะมากกว่าปริมาณสัตว์น้ำ ในปี 2050

ที่มา:https://mgronline.com/greeninnovatio.../9610000069431