Admin 30 พ.ค. 2560

ยับเยิน! พายุซัด"เรือปานามา"ไถปะการังเกาะสีชังเสียหายกว่า 120 ล้าน ทช.โร่แจ้งความ หวั่นกัปตันหนี

201705311351

วันที่ 30 พฤษภาคม นายศุภวัตร กาญจน์อติเรกลาภ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (จ.ระยอง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 ได้เกิดคลื่นลมแปรปรวนมีพายุ ทำให้เรือสินค้าชื่อ GLODAL STANDARD สัญชาติปานามา ถูกลมพัดขึ้นเกยตื้น บริเวณเกาะร้านดอกไม้ พื้นที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ออกสำรวจและประเมินความเสียหายต่อทรัพยากรปะการัง จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะร้านดอกไม้ ห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร สภาพพื้นที่เป็นแนวปะการัง มีปะการังมีชีวิตปกคลุมประมาณร้อยละ 80 มีพื้นที่แนวปะการังทั้งหมด จำนวน 20 ไร่

"จากการสำรวจพื้นที่พบปะการังเกิดการแตกหักเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยความเสียหายเริ่มตั้งแต่ขอบแนวปะการังด้านนอก เลยเข้ามาจนถึงสุดขอบแนวปะการัง วัดความยาวได้ทั้งสิ้น 84 เมตร ความกว้าง 35.8 เมตร รวมความเสียหายพื้นที่ประมาณ 2,856 ตารางเมตร หรือ 1.78 ไร่ ระดับความรุนแรงตั้งแต่เป็นรอยครูดบนปะการัง ปะการังโดนไถพลิกล้มคว่ำ ปะการังแตกหักไปจนถึงแตกละเอียด จากการลงพื้นที่สำรวจทรัพยากรทางทะเลพบกลุ่มปะการังที่ได้รับผลกระทบมากถึงขั้นแตกหัก ได้แก่ ปะการังจาน ปะการังโขด ปะการังสมองร่องเล็ก และปะการังช่องเหลี่ยม โดยเรือที่เกยตื้นลำดังกล่าวได้ถูกย้ายออกจากพื้นที่บริเวณเกาะร้านดอกไม้เรียบร้อยแล้ว ด้วยการใช้เรือลากจูงจำนวน 2 ลำ ลากออกจากจุดเกิดเหตุ" นายศุภวัฒน์ กล่าว

นายธเนศน์ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดการเรื่องนี้ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีเรืองต่างชาติสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรในทะเล เป็นความเสียหายค่อนข้างหนัก ยังไม่รู้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีมูลค่าเท่าใด แต่ประเมินเบื้องต้นแล้วถือว่าค่อนข้างมาก เพราะปะการังแตกเสียหายเป็นวงกว้าง เบื้องต้น ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าของเรือว่ามีความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เพราะปะการังถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 นั้น คงต้องรอให้มีการประเมินค่าความเสียหายให้ออกมาชัดเจนก่อน

เมื่อถามว่า หากต้องรอผลการประเมิน เกรงว่า เรือลำดังกล่าวจะหนีไปก่อนหรือไม่ นายธเนศน์ กล่าวว่า เวลานี้เรือไปไหนมาไหนไม่ได้ จอดนิ่งสนิทอยู่บริเวณเกาะสีชัง คิดว่า ทั้วกัปตันและลูกเรือไม่น่าจะหนีทิ้งเรือไปง่ายๆ อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ของ ทช.เฝ้าดูอยู่ ยอมรับว่า ทช.เองไม่มีอำนาจในการสั่งอายัดหรือกักเรือเอาไว้ ต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นการประเมินค่าเสียหายที่มีต่อปะการัง เมื่อเทียบกับกรณี เรือสัญชาติอังกฤษชนปะการังในประเทศอินโดนีเซีย มีการประเมินค่าเสียหาย คิดเป็นเงินไทยคือ ตารางเมตรละ 42,200 บาท ซึ่งกรณีความเสียหายที่เกาะสีชังนั้นพื้นที่ปะการังเสียหายทั้งหมด 1.725 ไร่ หรือประมาณ 2,800 ตารางเมตร คิดเป็นค่าเสียนหายประมาณ 120 ล้านบาท

"ผมไม่รู้ว่าที่ ทช.ประเมินมานั้นเป็นเงินเท่าไร ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยประเมินอะไรแบบนี้มาก่อน แต่หากจะทำก็ไม่ยาก เราสามารถเอากรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านเรามาใช้ได้ ไม่ต้องไปกลัวว่าเขาจะไม่มีเงินมาชดใช้ เพราะเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ขนาดนี้จะต้องมีประกันการเดินทางที่ครอบคลุมทุกอย่างอยู่แล้ว ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้นมีความชัดเจนมาก ตอนนี้ อธิบดี ทช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 17 ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ระงับการเดินเรือ หรือห้ามมิให้เดินเรือต่อได้เลย จนกว่าจะมีการเจรจาค่าเสียหายบรรลุผล" ผศ.ธรณ์ กล่าว

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1496140834