Admin 25 พ.ค. 2560

ทช. ให้ข้อมูลกรณีข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โวยแก๊งลักปะการังจานขนาดยักษ์ในถ้ำเวียงแหล่งเที่ยวชื่อดังชุมพร

pic-l-14844-201705251495700470421

วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลกรณีข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ "โวยแก๊งลักปะการังจานขนาดยักษ์ในถ้ำเวียงแหล่งเที่ยวชื่อดังชุมพร" ตามที่ปรากฏเป็นข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ความว่า ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ทช. ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการนำเที่ยวชุมชนชื่อ “กรีนนำเที่ยว” ว่าปะการังจานขนาดใหญ่อายุนับพันปีในถ้ำหน้าอ่าวกรวด เกาะเวียง ซึ่งเป็นจุดดึงดูนักท่องเที่ยวถูกแก๊งค้าปะการังขโมยไปจากถ้ำดังกล่าว กรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง ได้สั่งการและดำเนินการดังนี้

1. ให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ 3 (สบทช.3) และที่ 4 (สบทช.4) ลงพื้นที่เพื่อสืบข่าวและหาข้อมูลในพื้นที่ ได้รับข้อมูลว่า

     1.1 จากการสืบถามเครือข่ายประมงชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ข้อมูลว่า กลุ่มที่ขโมยปะการังดังกล่าว มีประมาณ 4 - 5 คน เป็นบุคคลในพื้นที่ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ปัจจุบันได้รับทราบข้อมูลตัวบุคคลและที่อยู่เบื้องต้นแล้ว และยังได้สืบค้นหาหลักฐานในเชิงลึกต่อไป

     1.2 ช่วงเวลาการเกิดเหตุ จะเกิดการลักลอบในช่วงเวลากลางคืน โดยอาศัยความมืดใช้เรือขนาดเล็กเข้าไปดำน้ำเก็บปะการัง หรือดอกไม้ทะเล ตามใบสั่งของพ่อค้า และจะทำการแพ็คเก็บซ่อนไว้ใต้น้ำ โดยที่นัดกับพ่อค้าส่งของบริเวณชายฝั่ง โดยที่ไม่มีจุดตายตัว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งมีความยาวชายฝั่งหลายสิบกิโลเมตร ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร การขนส่งและปลายทางของตลาดปะการัง หลังจากการนัดรับสินค้าบริเวณชายฝั่ง ซึ่งผู้รับสินค้าต่อจะใช้รถปิ๊คอัพบรรทุกลังโฟม หรือถังไฟเบอร์มุ่งขึ้นสู่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และมีจุดพักสินค้าในระหว่างการลำเลียงขนส่ง และกำลังสืบหาข้อมูลที่ชัดเจนของจุดพักสินค้าดังกล่าว

     1.3 สบทช.4 ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษคดีขโมยปะการัง ที่ สภ.มาบอำมฤต จังหวัดชุมพร เรียบร้อยแล้ว ตาม ปจว.ข้อ 3  เวลา 14.00 น. คดีที่ 155/2560  รับเรื่องโดย พ.ต.ต.สุรพงษ์ ศรีสมพงษ์

2. แนวทาง/มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันปัญหาการลักลอบกระทำการใดๆ ที่คุกคามทำความเสียหายต่อปะการังธรรมชาติ

     2.1 แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ประกอบด้วยการเฝ้าระวังเรือต้องสงสัยที่เข้าใกล้พื้นที่ปะการังในเวลากลางคืน และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงอยู่บริเวณใกล้แนวปะการัง ให้ช่วยสอดส่องดูแล และหากพบเหตุการณ์ที่มีเรือ หรือบุคคลเข้าไปในบริเวณกองปะการังในเวลากลางคืน ให้แจ้งกลับมายังเจ้าหน้าที่โดยทันที พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งให้รับทราบถึงความผิด และโทษทางอาญาของการลักลอบขนย้ายปะการัง

     2.2 แนวทางในการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองปะการังในพื้นที่ดังกล่าว มีดังนี้

          (1) มาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เห็นควรดำเนินการออกคำสั่งกำหนดมาตรการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรปะการัง หรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นหากปล่อยให้เนิ่นช้าจะทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นตามมาตรา 17 วรรคสอง

          (2) มาตรการระยะยาว กำหนดแนวทางการออกประกาศกระทรวงมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่อาจถูกทำลาย หรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะเกาะ ที่มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสำคัญด้านระบบนิเวศน์ ตาม มาตรา 22 แห่ง พรบ.ทช. 2558 เป็นการเร่งด่วน

860886G0DL5oPyrtt5HBAi37Sc0y2CgsWmQM27UFul7wF0ULmL7iUqSIchyG860882S__15204370S__15187972

ที่มา : http://www.dmcr.go.th/detailAll/14844/nws/87/