Admin 18 พ.ค. 2560

หน้าฝน เล่นน้ำทะเลระวังแมงกะพรุน

19-5-2560 15-12-03

กรมควบคุมโรค เตือนเล่นน้ำทะเลช่วงฝนตก ระวังแมงกะพรุนมีพิษ หลังสัปดาห์ที่แล้วพบผู้บาดเจ็บสงสัยสัมผัสพิษแมงกะพรุน 3 ราย โดยผู้บาดเจ็บทั้ง 3 ราย ลงเล่นน้ำทะเลขณะมีฝนตกโปรยๆ มีบาดแผลลักษณะโดนแมงกะพรุน

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมาก ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ  โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด  แต่แมงกะพรุนที่เป็นอันตรายและมีพิษรุนแรงคือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องแล้ว จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2542-2558 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 1,000 ราย พบอาการหนักจนถึงหมดสติ 18 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย ทุกรายเกิดจากแมงกะพรุนกล่อง

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเหตุการณ์พบผู้บาดเจ็บสงสัยสัมผัสแมงกะพรุนพิษ 3 ราย ในจังหวัดกระบี่  โดยผู้ป่วย 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อยที่มือ  ส่วนอีก1 ราย มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณขาและแขน  แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ปวดจุกแน่นท้อง แต่ยังรู้สึกตัวดี จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 คน ได้ลงเล่นน้ำทะเลขณะมีฝนตกโปรยๆ หลังเล่นน้ำพบว่ามีบาดแผลลักษณะโดนแมงกะพรุน จึงไปรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยน้ำส้มสายชูจากเจ้าหน้าที่ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

สำหรับแมงกะพรุนกล่อง เป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษรุนแรง จะมีลักษณะโปร่งใส    รูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนวดยื่นออกมาในแต่ละมุม และหนวดอาจยาวพอกับความสูงของคน แมงกะพรุนกล่องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีหนวดเพียงเส้นเดียวในแต่ละมุม หรือชนิดที่มีหนวดหลายเส้นในแต่ละมุม ซึ่งกลุ่มนี้มีหนวดรวมๆ แล้ว ประมาณ 12-15 เส้น และผู้เสียชีวิตในประเทศไทยทุกรายเกิดจากชนิดที่มีหนวดหลายเส้น ซึ่งกะเปาะพิษจะอยู่ที่สายหนวด หนึ่งตัวอาจมีกะเปาะพิษถึงล้านถุง ทำให้แมงกะพรุนกล่องจัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด ซึ่งพิษของแมงกะพรุนกล่องมีฤทธิ์ 3 ด้าน คือ 1.ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย 2.มีอาการปวดรุนแรง และ 3.หากได้รับพิษในปริมาณมาก และพิษเข้าสู่กระแสเลือดและจะเข้าสู่หัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและระบบหายใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยถูกแมงกะพรุน ดังนี้ 1.เรียกให้คนช่วยหรือเรียกรถพยาบาล (โทร 1669) แต่ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง เพราะอาจหมดสติภายในเวลาไม่กี่นาทีข้างหน้าและต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 2.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆเพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน 3.ห้ามขัดถูหรือราดน้ำจืดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น 4.ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่มีร่องรอยจากการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วนานอย่างน้อย 30 วินาที  น้ำส้มสายชูมีฤทธิ์ในการระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับพิษเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดอาการปวด 5.ถ้าผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจก่อน โดยไม่ต้องรอราดน้ำส้มสายชู หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ที่มา : http://news.voicetv.co.th/thailand/490915.html