Admin 28 เม.ย. 2560

กรมโรงงานฯ เผยผลตรวจเบื้องต้นปลากะพงขาวตายในทะเลสาบสงขลา ไม่ใช่น้ำเสียจากโรงงาน!

son2505

กรมโรงงานฯ เผยผลตรวจเบื้องต้นพบปลากะพงขาวตายในทะเลสาบสงขลา ไม่ใช่น้ำเสียจากโรงงาน  ด้านกรมประมงพร้อมวางแนวทางแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน และ ระยะยาว

กรมโรงงานอุตสาหกรรม  แจงกรณีชาวบ้าน ตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบน้ำเน่าเสียในเส้นทางน้ำที่ระบายลงทะเลสาบสงขลา หลังพบปลากะพงขาวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังริมทะเลสาบสงขลา ตายไม่ต่ำกว่า 30 ตัน ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบแล้วพบว่า สาเหตุน้ำเน่าเสียเกิดจากในช่วงวันที่ 28 มีนาคม - 8 เมษายน 2560 ในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกจำนวนมาก จึงส่งผลให้คุณภาพน้ำในทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหลือเพียง 1 ppt  จากค่ามาตรฐานประมาณ 10-20 ppt  ซึ่งทำให้ปลาปรับตัวไม่ทัน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีชาวบ้านตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเส้นทางน้ำที่ระบายลงทะเลสาบสงขลา หลังพบปลากะพงขาวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังริมทะเลสาบสงขลา ตายไม่ต่ำกว่า 30 ตัน ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2560 และชาวบ้านเชื่อว่าอาจเกิดจากโรงงานลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองธรรมชาติ ก่อนที่จะถูกระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา

กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุที่ปลากะพงตาย เกิดจากในช่วงวันที่ 28 มีนาคม - 8 เมษายน 2560 ในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกหนัก น้ำจืดไหลลงทะเลสาบสงขลาจำนวนมาก ส่งผลให้คุณภาพน้ำในทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเหลือเพียง 1 ppt จากค่าที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลากะพงในกระชังประมาณ 10-20 ppt

นอกจากนี้บริเวณที่ประสบปัญหามีโรงงานอุตสาหกรรมเพียง 1 โรงงาน ที่มีการปล่อยน้ำเสียที่มีปริมาณการทิ้งน้ำอยู่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ระบายน้ำทิ้งลงสู่คลองพะวงและออกสู่ทะเลสาบสงขลา  โดยโรงงานดังกล่าวมีการติดตั้งเครื่อง BOD online  เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง  ผลการเฝ้าระวังมีค่า BOD ระหว่าง 10-12 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งอยู่ในค่าที่กฎหมายกำหนดคือไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร และยังมีผู้ควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประจำโรงงาน ตลอดจนมีระบบการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมส่งโดยตรงมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคใต้เข้าไปตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่เกิดเหตุ  โดยผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือมีอุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส ค่าความเค็ม 3.5-11 ppt ค่าออกซิเจนละลายน้ำ 8.95 มิลลิกรัม/ลิตร โดยกรมโรงงานฯ มีแผนในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในทะเลสาบสงขลาอย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน  นายอดิศร  พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ปลากะพงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9  ตำบลเกาะยอ  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ลอยตายติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รวมจำนวนหลายสิบตัน ทำให้ผู้เลี้ยงปลาได้รับความเดือดร้อนนั้นได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง มาตั้งแต่เกิดเหตุ  ซึ่งขณะนี้ ได้รับรายงานว่า ปริมาณการตายของปลากะพงขาวลดลงแล้ว โดยปลาที่ตายส่วนใหญ่จะเป็นปลากะพงขาว ขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3 – 5 กิโลกรัมต่อตัว และจากการเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณเกิดเหตุไปตรวจ พบว่าคุณภาพน้ำผิดปกติ มีค่าออกซิเจนเพียง 0.9 – 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่าออกซิเจนที่เหมาะสมสำหรับสัตว์น้ำควรมากกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร) ซี่งน่าจะมาจากหลายสาเหตุหลายปัจจัยของสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าว อาทิ การเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำอย่างฉับพลัน เพราะมีการระบายน้ำจืดลงสู่ทะเลสาบเนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้แพลงก์ตอนพืชลดลงอย่างรวดเร็ว การสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืชในช่วงที่มีแสงก็ลดลง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง อีกทั้ง บริเวณแหล่งเลี้ยงปลากระชังมีสภาพตื้นเขิน มีความลึกของน้ำอยู่เพียง 1 – 1.5 เมตร และพื้นที่เลี้ยงมีลักษณะเป็นอ่าวทำให้มีการไหลเวียนของกระแสน้ำน้อย ประกอบกับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 เป็นช่วงน้ำตาย น้ำมีการขึ้นลงน้อย ผนวกกับอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงมาก การละลายและหมุนเวียนของออกซิเจนจึงน้อยลง  นอกจากนี้ ยังพบว่าปลากะพงขาวในกระชังเลี้ยงของเกษตรกร มีขนาดตัวที่โต จึงมีความหนาแน่นมาก เมื่อออกซิเจนในน้ำน้อย จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของปลาตัวใหญ่และจำนวนมากขนาดนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดจากสภาวะการขาดออกซิเจนและช็อคตาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลพื้นที่ตำบลเกาะยอ จำนวน 9 หมู่บ้าน  มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง จำนวน 323 ราย จำนวน 1,838 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 81,147 ตารางเมตร โดยพบว่ามีจำนวนเกษตรกร จาก 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 9  ที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ 40 ราย มีปริมาณสัตว์น้ำที่ตาย ประมาณ 80 ตัน (80,000 กิโลกรัม) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 12 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมประมงได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะเร่งด่วน : (1) แนะนำให้เกษตรกรเร่งเพิ่มออกซิเจน โดยวิธีปั๊มออกซิเจนร่วมกับใช้เครื่องสูบน้ำพ่นน้ำร่วมด้วย และอาจใช้ออกซิเจนผงในการเพิ่มออกซิเจนอีกทางหนึ่ง

(2) ร่วมกับจังหวัดสงขลา หาทางเยียวยาและจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังโดยใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ ก่อนหน้าตั้งแต่เกิดเหตุ ทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลาก็ได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังเร่งจับปลาที่ได้ขนาดขายโดยด่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม  ในสถานการณ์ช่วงนี้ หากปลากะพงที่เลี้ยงไว้ มีน้ำหนัก 0.8 – 1.0 กิโลกรัม ก็สามารถจับขายได้เลย ไม่ต้องรอให้โตเต็มที่ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ระยะยาว : ดำเนินการชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงปลากะพงขาวให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัญหาการตายของปลากะพงขาวบริเวณเกาะยอ เป็นปัญหาสำคัญและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน และทุกครั้งที่ไปตรวจสอบก็จะเป็นเพราะสาเหตุเดียวกัน คือ ปริมาณออกซิเจนในน้ำน้อยกว่าที่สัตว์น้ำจะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนอัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยง  การวางกระชังเลี้ยงในทะเลต้องให้มีระยะห่างพอสมควร เพื่อให้การไหลเวียนของน้ำสะดวกขึ้น และพื้นที่ที่เกิดปัญหาปริมาณออกซิเจนต่ำบ่อยๆ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเพิ่มออกซิเจนสำรองไว้เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะเกิดปัญหาอีก

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้าย ว่าขอให้เกษตรกรในทุกพื้นที่ติดตามการรายงานสภาพอากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหมั่นดูแลปลาที่เลี้ยงไว้และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง หากพบความผิดปกติของปลาที่เลี้ยงไว้ขอให้แจ้งไปยังสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้าน

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1493374038