Admin 24 เม.ย. 2560

เครือข่ายประชาชนฯ ระดมสรุปปัญหาเสนอรัฐบาลปฏิรูปกฎหมาย EIA และ EHIA

560000004287201

นักวิชาการ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ EIA และ EHIA โครงการยักษ์ในภาคใต้ ระดมปัญหาสรุปบทเรียน 4 ภาค เสนอรัฐบาลปฏิรูปกฎหมายประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

วันที่ (24 เม.ย.) รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผอ.สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน ภาคใต้ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการ EIA และ EHIA โครงการสำคัญทั่วภาคใต้ จัดเวทีสัมมนา “ทำไมต้องแก้ไข EIA และ EHIA” โดยมีผู้เข้าร่วม 100 คน ในข้อเสนอ กระบวนการปฏิรูปกฎหมาย การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จัดขึ้นที่พญาบังสาโฮมสเตย์ ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล

560000004287202

โดยเวทีสัมมนาในครั้งนี้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียนจากการทำ EIA และ EHIA กรณีศึกษาพื้นที่ใน จ.สงขลา จ.กระบี่ จ.สตูล และ จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งข้อเสนอในปัญหาแง่มุมทางกฎหมาย ก่อนจะมีการระดมความเห็นต่อร่างกฎหมาย EIA และ EHIA นอกจากนี้ เวทีสัมมนาจะมีการหมุนเวียนขึ้นใน 4 ภาค

ซึ่งครั้งนี้ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ได้แถลงการณ์ในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูป EIA และ EHIA ในครั้งนี้ว่า มีเป้าหมายเพื่อสรุปบทเรียน และนำเสนอประเด็นการเปลี่ยนกฎหมาย EIA และ EHIA เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ในประเด็นสำคัญจากบทเรียนของภาคใต้ในการปฏิรูป 5 ประเด็น คือ (1) ผู้จัดทำรายงานต้องเป็นหน่วยงานที่ยอมรับร่วมกัน งบประมาณจัดทำรายงานเจ้าของโครงการจะต้องนำส่งสู่กองทุนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระเป็นนิติบุคคล

(2) มาตรการลดผลกระทบที่ใส่ไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะต้องได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และมีรูปธรรมการลดผลกระทบที่ชัดเจน (3) เจ้าของโครงการจะต้อมีการประเมินต้นทุนภายนอกที่ครอบคลุมมิติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และต้องซื้อประกันความเสี่ยงจากสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้

560000004287203

(4) คณะกรรมการผู้ชำนาญการในการอนุมัติรายงานจะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการจะต้องมีความรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง และอาญา หากอนุมัติรายงานแล้วเกิดผลกระทบ และ (5) การเกิดขึ้นของโครงการจะต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องต่อการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่มีการดำเนินการโครงการนั้น

ฉะนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูป EIA และ EHIA ภาคใต้ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.ก่อนการแก้กฎหมายกระบวนการจัดทำ EIA และ EHIA ห้ามมิให้ดำเนินการจัดทำรายงานโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐ หรือเอกชน 2.พื้นที่ซึ่งจัดทำรายงานเสร็จแล้วขอให้รัฐบาลยกเลิกรายงานฉบับนั้น หากพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีเนื้อหาในรายงานอันเป็นเท็จ และ 3.รัฐบาลจะต้องนำข้อเสนอของประชาชนหลักการรับฟังความเห็นไปสู่การแก้กฎหมายว่าด้วยกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


ที่มา : http://www.manager.co.th/south/viewnews.aspx?NewsID=9600000041354