Admin 24 เม.ย. 2560

“แก้มลิง”ศาสตร์พระราชา ทางแก้ปัญหาวิกฤติน้ำยั่งยืน

fa6k69ae6k58eeaeaf677

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”พระราชกระแสอธิบาย“แก้มลิง”ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ก่อนจะมาเป็นแนวทางป้องกันเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเวลาต่อมา

             จากแนวพระราชดำริดังกล่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน จึงได้นำมาปรับใช้ในพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศ บางแห่งก็ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติมาพัฒนา ปรับพื้นที่เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ ในขณะที่หลายแห่งก็ได้ก่อสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหารองรับน้ำในฤดูฝนและขาดน้ำในฤดูแล้งสำหรับการอุปโภคบริโภคและเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตร

             ปี 2560 กรมชลประทานได้รับจัดสรรประมาณกว่า 2,736 ล้านบาทสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ 34 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ 10 แห่งและแก้มลิงอีก 24 แห่ง  โดยกรมจะเร่งรัดดำเนินโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 419 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วยเหลือครัวเรือนที่เดือดร้อนจากภัยแล้งได้ 1.9 หมื่นครัวเรือน ในขณะที่บึงธรรมชาติ 4 แห่งได้ถูกพัฒนาเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่เพื่อสามารถรองรับปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย บึงสีไฟ จ.พิจิตร บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ หนองหาน จ.สกลนครและกว๊านพะเยา จ.พะเยา ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเร่งดำเนินการขุดลอกตะกอนอย่างต่อเนื่อง

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ และรองโฆษกกรมชลประทานเผยกับ“คมชัดลึก”ถึงแผนการพัฒนา 4 บึงใหญ่่เพื่อใช้เป็นแก้มลิงรับน้ำ โดยระบุว่าทั้งสี่บึงที่มีเหมือนกันก็คือการรักษาความจุของบึงแต่ละพื้นที่ ซึ่งนับวันจะมีความจุลดลง อันเนื่องมาจากตะกอนที่ตกจมกันปีละไม่น้อย ดังนั้นทุกบึงจึงมีมาตรการที่เหมือนกัน ได้แก่การขุดลอกตะกอนบึงเช่นบึงบอระเพ็ด มีเป้าหมายในการขุดในช่วง 5 ปีจากนี้ไปรวม 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร

         "ปัญหาอีกส่วนก็คือเรื่องการเชื่อมโยงแหล่งน้ำภายนอกกับบึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูแล้งจำเป็นต้องเก็บกักน้ำในบึงให้เต็มเพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูแล้ง บึงบอระเพ็ด มีลุ่มน้ำรับน้ำเป็นของตัวเอง จึงต้องการยกระดับการกักเก็บน้ำของฝายบริเวณท้ายบึงบอระเพ็ดให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความจุที่ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องการเพิ่มระดับเก็บกักอีก 1 เมตรเป็น 310,000,000 ลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาพฝน จึงต้องการเชื่อมบึงบอระเพ็ดกับแม่น้ำน่านเพื่อดึงน้ำจากแม่น้ำน่านในกรณีที่น้ำในบึงบอระเพ็ดต่ำมาก ซึ่งปัจจุบันได้มีหน่วยงานเช่นกรมทรัพยากรน้ำก็ติดตั้งสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง แต่ยังไม่สามารถถ่ายโอนได้ เนื่องจากค่ากระแสไฟฟ้าที่อาจจะต้องมีภาระในอนาคต และขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้สร้างประตูรับน้ำจากแม่น้ำน่านเข้ามาเช่นเดียวกัน แต่ยังมีปัญหาที่น้ำจากแม่น้ำน่านไม่สามารถไหลเข้าได้ เนื่องจากธรณีประตูอยู่สูง ซึ่งจะต้องปรับปรุงกันต่อไป"

         รองอธิบดีกรมชลประทานระบุอีกว่าสำหรับบึงสีไฟที่จ.พิจิตรก็มีการสร้างคันล้อมรอบโดยกรมประมง ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าบึงสีไฟได้ จึงต้องมีการทำทางน้ำเชื่อมกับคลองชลประทานอย่างน้อยที่สุดประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรจะต้องเข้าไปในบึงสีไฟและจะต้องมีการขุดลอกบึงสีไฟอีกประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตรด้วย ส่วนกว๊านพะเยาจ.พะเยาเป็นบึงที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ความจุประมาณ 30ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ แต่มีปัญหาเรื่องความจุลดลง เนื่องจากมีวัชพืชในกว๊านพะเยา จึงจำเป็นต้องมีแผนในการขุดลอกตัวกว๊านพะเยาและจำเป็นต้องมีการยกระดับการเก็บกักน้ำในกว๊านพะเยาขึ้นอีกประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้จะต้องมีแหล่งรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนของกว๊านพะเยาเชื่อมต่อกันอีกด้วย

           สำหรับหนองหานจังหวัดสกลนครนั้นมีความจุอยู่ที่ 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปัญหาตะกอนซึ่งมีมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกตัวหนองหานเพื่อรักษาความจุเอาไว้ให้ได้ ซึ่งกลายเป็นแผนงานหลัก และต้องมีการควบคุมวัชพืชในตัวหนองหานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนงานเรื่องของการควบคุมคุณภาพน้ำบริเวณรอบ ๆ หนองหานและการเชื่อมโยงแหล่งน้ำจากพื้นที่ตอนบนและจะต้องหาแหล่งเก็บกักเพิ่ม ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดได้นำเสนอเข้าสู่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักและร่วมบูรณาการต่อไป

           ส่วนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งเป็นปัญหามาตลอดจากอดีตจนปัจจุบัน ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 จึงมีแนวพระราชดำริในการสร้างแก้มลิงรับน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันสนองแนวพระราชดำริและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และมีการแบ่งแก้มลิงออกเป็น 3 ขนาด จากใหญ่ กลางและเล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกในเวลาต่อมา

          ดร.สมเกียรติแจงรายละเอียดว่าแก้มลิงรับน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานได้มีการวางแผนไว้อย่างระบบตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยฝั่งตะวันออกจะรับน้ำตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร มาตามคลองสายต่าง ๆ ไปลงคลองชายทะเล เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลทางจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนฝั่งตะวันตกจะรับน้ำตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร และสมุทรสาคร ไปลงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยและแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร

           ส่วนการดำเนินการจะเน้นการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช การก่อสร้างและปรับปรุงสถานีสูบน้ำ การก่อสร้างและปรับปรุงประตูระบายน้ำ ตลอดจนการปรับปรุงคลองกั้นน้ำโดยเฉพาะบริเวณแก้มลิงตอนล่าง ซึ่งจะมีการงานก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมด้วยสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำท่าจีน บริเวณเหนือที่ตั้งจ.สมุทรสาครเพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีนให้ไหลลงสู่อ่าวไทยโดยเร็วและจะปิดกั้นไม่ให้น้ำด้านท้ายไหลย้อนกลับเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูง อันจะส่งผลกระทบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ภาคการเกษตรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง

          “แก้มลิง”ศาสตร์พระราชา นับเป็นทางออกในการป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน

 การบริหารจัดการน้ำแก้มลิง"คลองมหาชัย-สนามชัย"

โครงการชลประทานสมุทรสาคร ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริดังนี้

ช่วงน้ำปกติ

จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่งเพื่อรับน้ำคุณภาพดีจากทะเลเข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิงส่วนประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยจะมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเปิดประตูระบายน้ำตลอด ยกเว้นกรณีเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจะทำการปิดประตูระบายน้ำลงเมื่อน้ำทะเลไหลลงจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล เป็นการหมุนเวียนน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

ช่วงน้ำหลาก

จะมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 10 แห่ง ในระบบแก้มลิงของกรมชลประทานในเขตจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด โดยมีการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยเป็นหลักเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเลโดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังสูบเครื่องละ 3 ลบ.ม./วินาทีจำนวน 12 เครื่องรวมทั้งสิ้น 36 ลบ.ม./วินาที สูบน้ำออกจากคลองมหาชัยเป็นการพร่องน้ำภายในระบบแก้มลิง เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเติมตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/agricultural/273086