Admin 20 เม.ย. 2560

นักชีววิทยาติง EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ข้อมูลผิดเพียบ ภาค ปชช.ใต้เตรียมเปิดเวทีจี้ปฏิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ

560000004133301

แบบจำลองโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา

อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยอ่าน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา พบข้อมูลด้านชีววิทยาไม่ตรงต่อความเป็นจริงหลายประเด็น ติง กฟผ.อย่ามาบอกว่าตัดสินใจบนหลักวิชาการที่ถูกต้อง ขณะที่นักวิชาการ และภาคประชาชนใต้เตรียมเปิดเวทีชำแหละกระบวนการจัดทำ EIA-EHIA เพื่อยื่นข้อเสนอกระบวนการปฏิรูปกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งระบบ

วันที่ 20 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Sakanan Plathong ระบุว่า “ที่ผ่านมาผมไม่เคยสนใจเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมาตั้งที่ อ.เทพา เพราะไม่เคยไปศึกษาในพื้นที่นี้

แต่เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. เข้ามาชวน ม.อ. ทำโครงการวิจัยระบบนิเวศชายฝั่งทะเล บริเวณที่จะสร้างท่าเรือ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมเลยเพิ่งไปนั่งอ่านรายงาน EHIA ตรงส่วนนิเวศวิทยาทางทะเล เพื่อดูว่าบริษัทที่ปรึกษาเขารายงานว่าอย่างไร

เห็นจุดอ่อนมากมายของการศึกษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ทั้งสัตว์หน้าดิน (Benthos) แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์น้ำวัยอ่อน 1.สัตว์หน้าดินน้อยกว่าความเป็นจริง 10-20 เท่า 2.แพลงก์ตอนสัตว์ พบสัตว์กลุ่ม crustacean แค่กลุ่ม Copepod ทั้งๆ ที่ปกติจะมีความหลากหลายมากกว่านี้

560000004133302

นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า อ่านตารางแพลงก์ตอนสัตว์ ตรง Phylum Arthropoda Class crustacea สิครับ...เป็นไปได้อย่างไร?? มีแค่นี้

นอกจากนี้ ในรายงานไม่ปรากฏ Mysid หรือกุ้งเคย ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งควรจะสำรวจพบได้เป็นปกติในบริเวณนี้ 3.หัวข้อการศึกษาระบุให้ศึกษาสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่การศึกษารายงานเฉพาะลูกปลา ไม่ปรากฏข้อมูลสัตว์น้ำวัยอ่อนประเภทอื่นๆ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกหมึก ซึ่งพบได้เป็นปกติทั่วไป

ดั้งนั้น ที่บอกว่าจะใช้การตัดสินใจบนฐานวิชาการนั้นมันจะถูกต้องได้อย่างไร ในเมื่อข้อมูลวิทยาศาสตร์ มันผิดมาตั้งแต่ต้น จะสร้างหรือไม่สร้างคงเป็นเรื่องของมวลชน และนโยบายของรัฐไปเคลียร์กันเอาเอง แต่อย่ามาบอกว่า “ตัดสินใจบนหลักวิชาการที่ถูกต้อง” รายละเอียดอยู่ใน Comment ตามอ่านกันนะครับ

ทั้งนี้ ใน Comment มีการระบุว่าสามารถอ่านรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ฉบับเต็มได้จากลิงก์ https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=351&Itemid=218

นอกจากนี้ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในช่องแสดงความคิดเห็นว่า ประท้วงกันมาตั้งนาน ไม่มีใครเห็นความผิดปกติ และยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดกันเลย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เห็นรายงาน 1,643 หน้าแล้ว ก็ไม่มีใครอยากเปิดอ่านแล้ว รายงานแบบนี้เป็นแค่กระบวนการทางพิธีกรรม..ทำเพื่อให้ดูขลัง ให้เป็นผักชีโรยไว้ เพื่อบอกว่าศึกษาแล้ว

560000004133303

จำนวนชนิดและความชุกชุมของสัตว์หน้าดินก็น้อย

ผมสรุปได้ว่า การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่การทำไปอย่างนั้น เพราะไม่มีใครสนใจว่าถูกผิดอย่างไร จะเอามาใช้ในการตัดสินใจอย่างไร เพราะกระบวนการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ และความต้องการหรือไม่ต้องการของประชาชน

“ผมไม่ได้อ่านส่วนอื่นๆ ตัวโรงไฟฟ้าจะปล่อยอะไรบ้าง ดูดน้ำไปเท่าไร ผมไม่ได้ตามอ่านครับ ถ้ามีการดูดน้ำไปใช้ การดูดน้ำทะเลไปใช้จะส่งผลเท่าไร ก็ขึ้นกับตัวเลข และบัญชีสัตว์ทะเล ที่เขานำไปใช้คำนวณครับ แต่ถ้าตัวเลขความหลากหลายไม่ถูกต้อง ก็แสดงว่าการประเมินผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าความเป็นจริงครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกี่ยวกับประเด็นความไม่โปร่งใสในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการต่างๆ ทางภาคประชาชนเตรียมจัดกิจกรรมสัมมนาข้อเสนอกระบวนการปฏิรูปกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA) (EHIA) จากเครือข่ายประชาชนและวิชาการพื้นที่ภาคใต้

โดยระบุหลักการ และเหตุผลว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมายิ่งทำให้มีบทสรุปร่วมกันว่ากระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่เรียกว่าการทำ EIA และ EHIA ของประเทศมีปัญหาเรื่องมาตรฐาน และการยอมรับของประชาชนในสังคม รวมถึงกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งหลายว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นเพียงตราประทับเพื่อรับรองให้โครงการต่างๆ เดินหน้าก่อสร้าง หรือจัดให้มีโครงการต่างๆ อย่างไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น

560000004133304

ภาพนี้ ความประหลาด คือ..บอกว่าศึกษาสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ผลการศึกษา มีแต่ลูกปลาวัยอ่อน ลูกกุ้ง ลูกปู ลูกกั้ง ลูกหอย และสารพัดสัตว์น้ำอื่นๆ ทำไมไม่ศึกษา

และรวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชน หรือประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ เหล่านั้น ด้วยความพิกลพิการ และการออกแบบในระเบียบกฎหมายที่เป็นอยู่ ถือเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด และได้กลายเป็นขั้นตอนที่จะต้องทำเพียงเพราะกฎหมายบังคับให้ทำเท่านั้น

ผลปรากฏว่า ความขัดแย้ง ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นจากการจะต้องมีโครงการใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนต่างๆ กลับกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับในเครื่องมือดังกล่าวนี้ และแทนที่เครื่องมือที่เรียกว่ากระบวนการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ จะกลายเป็นช่องทางให้เกิดกระบวนการคิด การออกแบบ และการตัดสินใจที่ยอมรับกันได้ ก็กลับใช้ไม่ได้ตามเจตนารมณ์

จนหลายปีที่ผ่านมานี้เช่นกัน ที่ภาคประชาชน หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพต่างพร้อมใจกันที่จะให้มีการแก้ไข ปรับปรุงให้กระบวนการดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันมากขึ้น และให้เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่ทางออกของสังคมได้จริง และในโอกาสนี้ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งของภาคประชาชน นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อมในภาคได้จับมือกันเพื่อรวบรวมความคิด ความเห็น และข้อเสนอที่ควรจะให้มีการปรับปรุงให้กระบวนการดังกล่าวนั้นเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น

โดยกิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อให้กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 ในการสร้างทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา กระบวนการขั้นตอนของการประเมินผลก่อปัญหาตลอดมาและกลายเป็นเป็นเครื่องมือของความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าของโครงการทั้งนี้เพราะว่าในโครงสร้างกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาทุกกระบวนการ ตั้งแต่ผู้จัดทำ กระบวนการจัดทำ กระบวนการประเมินผล และกระบวนการอนุมัติรายงาน

เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีความเที่ยงธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริงจึงควรแก้ไขโดยด่วน จึงมีการจัดกิจกรรมสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นข้อเสนอการแก้ไขประกาศกระทรวงว่าด้วยกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยมีการจัดกิจกรรมสัมมนาเดียวกันนี้ให้ครบทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ให้เป็นข้อเสนอร่วมของวงสัมมนาทั้งประเทศ

โดยข้อเสนอที่ได้จะนำเสนอสู่รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงต่อกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งนี้ ข้อเสนอร่วมที่ได้นั้นประชาชนจะร่วมกันผลักดันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ได้รับฟังมาร่วมกันต่อไป

โดยกระบวนการจะมีการศึกษาข้อมูล และข้อเสนอขององค์กรต่างๆ ที่ได้ศึกษาเรื่องการปฏิรูป อีไอเอ มาแล้วก่อนหน้านี้ และจะมีเวทีการรับฟังข้อเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีเป้าหมายในการพูดคุย ถกเถียง รับฟังให้ทั่วทุกภาค ทั้งนี้มีสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นฝ่ายวิชาการเพื่อการประมวลสรุปข้อเสนอ

องค์กรร่วมจัด 1.สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ 2.คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 3.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) 4.เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการ EIA EHIA

เอกสารหลักประกอบการสัมมนา 1.กฎหมายเดิม EIA EHIA 2.ร่างกฎหมาย EIA EHIA ที่ประมวลผลจาก 4 หน่วยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาปฏิรูปแห่งชาติสภาขับเคลื่อนประเทศ

กำหนดการกิจกรรมสัมมนา ข้อเสนอกระบวนการปฏิรูปกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA) (EHIA) จากเครือข่ายประชาชนและวิชาการพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 24 เมษายน 2560 ณ พญาบังสาโฮมสเตย์ ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล

ที่มา : http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000039848