Admin 18 เม.ย. 2560

นายกฯสั่งกรมประมง-ศปมผ. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนเอื้อประมงผิดกฎหมาย

Pipo

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีการนำเสนอข่าวว่ามีเรือประมงแฉเจ้าหน้าที่รับส่วยจับปลาผิดกฎหมาย โดยมีชาวประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร อ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) มีการระบุขนาดเรือให้ต่ำกว่า 30 ตันกรอส ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้เรือประมงดังกล่าวถูกจัดเป็นเรือขนาดเล็ก ซึ่งไม่ต้องแจ้งเข้าแจ้งออกต่อศูนย์ PIPO ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบได้ ดังนั้น ชาวประมงจึงเรียกร้องให้วัดขนาดเรือใหม่ นอกจากนี้ ยังมีเรือปลาฉิ้งฉ้างในพื้นที่ จังหวัดระยอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอ ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักลอบทำการประมงโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยออกทำการประมงในเวลากลางวัน และอยู่ถึงกลางคืน ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เรือประเภทดังกล่าวทำประมงเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ถึงแม้จะติดตั้งระบบ VMS ก็ใช้วิธีหลักเลี่ยงโดยฝากเครื่องมือ VMS มากับเรือประมงขนาดเล็ก และอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนรู้เห็นและมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงขอชี้เเจงว่าประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ออกจับกุมแล้วเพราะมี VMS นั้นไม่เป็นความจริง เพราะ กรมประมงมีแผนการออกตรวจเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายประจำปีอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากระบบติดตามเรือประมงว่าพบการกระทำผิดกฎหมาย จะมีการประสานความร่วมมือกับศูนย์เเจ้งเรือเข้าออกหรือ PIPO และ ศรชล.ในการจับกุมเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อส่งดำเนินคดี โดยในปีงบประมาณ 2560 มีแผนออกตรวจฯทั้งหมด 562 ครั้ง และขณะนี้ ได้มีการออกตรวจไปแล้ว 280 ครั้ง ซึ่งในการดำเนินการจะมีแผนติดตามผลการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ที่สอดรับกันอย่างชัดเจน อีกทั้ง เรือตรวจการณ์ประมงมีการติดตั้งระบบ VMS ด้วย ดังนั้นจึงสามารถตรวจสอบได้ในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-ปัจจุบัน มีการรายงานผลการจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว จำนวน 254 คดี คดีที่ถูกจับกุมมากที่สุดคือเขตทะเลชายฝั่ง เนื่องจากเป็นกฎระเบียบใหม่ 3 ไมล์ทะเล ขณะเดียวกัน การดำเนินการทางกฎหมายใหม่นับเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวทั้งชาวประมงและการบังคับใช้ ซึ่งต่อไปเรือทั้งหมดจะต้องมีระบบมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดอ่อนของการแก้ไขปัญหาปัจจุบันยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปการประมง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบมีการร้องเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกมากที่สุด ทั้งนี้ ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นจะต้องตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง โดยคณะกรรมการจะลงพื้นที่ใน 3 จังหวัด อาทิ สมุทรสงคราม สมุทรสาครและสมุทรปราการ ก่อน เพื่อหาข้อมูลให้ได้ข้อสรุปภายใน 7 วัน

กรณีหากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดจริง ทาง ศปมผ. และหน่วยงานต้นสังกัดจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือเป็นคดีอาญาเป็นรายกรณี ทั้งนี้ การทำงานของศูนย์ PIPO มีเจ้าหน้าที่จากหลายสังกัดรวมกัน รวมทั้งลูกจ้างชั่วคราว ที่เป็นผู้ต้องสงสัยทำตัวปะปนกับชาวประมงเรียกรับสินบน เมื่อถูกเพ่งเล็ง ลูกจ้างรายดังกล่าวได้ลาออกไป ซึ่งการรับสินบนจะขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ตั้งแต่ 5,000- 300,000 บาท ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตาม PIPO ที่มีเรือเข้าออกจำนวนมาก ในพื้นที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

ขณะที่พลเรือโท วรรณพล กล่อมแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดฎหมาย (สล.ศปมผ.) กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างเร่งด่วน วันนี้จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนและอาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบภายใน 7 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1492511709