Admin 18 เม.ย. 2560

กระแสต้าน "เรือดำน้ำ" กับหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

boat

อีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงที่น่าจะท้าทายการตัดสินใจของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์นี้ ก็คือการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำ งบประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมจะนำเข้าขอความเห็นชอบผูกพันงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่เข้าสักที เพราะเสียงคัดค้านเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่อดีตทหารเรือที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลชุดนี้เองก็ยังคัดค้าน

“ทีมล่าความจริง” เกาะติดประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้น และได้สรุปเปรียบเทียบ “คำถาม” กับ “คำชี้แจง” ของทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนมาให้พิจารณากันชัดๆ อีกครั้ง เพื่อให้ท่านผู้ชมหาคำตอบร่วมกันว่าประเทศของเราควรซื้อเรือดำน้ำจีนหรือไม่ ไปติดตามจากรายงานพิเศษ

กระแสต้านโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนรุ่น S-26T หรือที่รู้จักกันดีในชื่อรุ่น “ซื้อ 2 แถม 1” ที่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 36,000 ล้านบาท เริ่มร้อนแรงขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเอกสารข้อเสนอของบริษัทต่อเรือดำน้ำของจีน คือ บริษัทไชน่า ชิพบิวล์ดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอมพานี ลิมิเต็ด หรือ “ซีเอสโอซี” ที่เสนอต่อกองทัพเรือในช่วงที่มีการประกาศโครงการจัดซื้อจัดหาเมื่อปี 2558

เอกสารที่หลุดออกมา เป็นรายละเอียดคุณสมบัติของเรือดำน้ำจีนรุ่น “ซื้อ 2 แถม 1” ซึ่งคนในกองทัพเรือเองยืนยันว่าเป็นเอกสารของบริษัทซีเอสโอซีจริง และถูกนำไปเปรียบเทียบกับเอกสารข้อเสนอของบริษัทจากประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศ พร้อมถูกตั้งคำถามทั้งหมด 7 ข้อ ในแง่คุณสมบัติและความคุ้มค่าของเรือดำน้ำที่จะได้มา กับเม็ดเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายไป

เราไปย้อนดูคำถาม 7 ข้อที่ “ทีมล่าความจริง” ตั้งเอาไว้ว่ามีอะไรบ้าง 1.ขนาดของตัวเรือ ใหญ่เกินไปหรือไม่ ขณะที่อ่าวไทยของเราค่อนข้างตื้น / 2.การทำความเร็วและระยะปฏิบัติการที่สั้นกว่าเรือดำน้ำของประเทศอื่น / 3.ระบบ AIP หรือระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศ ที่ใช้งานลาดตระเวนจริงๆ ได้เพียง 10 วัน ขณะที่เรือดำน้ำรุ่นอื่นใช้ได้ 14 วันขึ้นไป / 4.อายุการใช้งานของตัวเรือเพียง 25 ปี แต่ของประเทศอื่น 35 ปีขึ้นไป / 5.อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ก็สั้นเพียง 200 รอบการชาร์จ / 6.การหนีจากเรือดำน้ำด้วยชุดหนีภัย ที่ทำการหนีได้ในระดับความลึกที่ต่ำกว่าเรือดำน้ำรุ่นอื่น / และ 7.ระบบอาวุธที่ด้อยกว่าเรือดำน้ำรุ่นอื่น

คำถาม 7 ข้อที่ออกมา ทำให้กองทัพเรืออยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมาแถลงชี้แจงผ่านการประชุมวิชาการของกองทัพเรือ ในการเสวนาเรื่อง “ความมั่นคงทางทะเล สมุทราภิบาล และเศรษฐกิจทางทะเลของไทย” ที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 5 เมษายน จากนั้น พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ยังเดินสายชี้แจงผ่านสื่ออีกหลายสำนัก

แต่ประเด็นชี้แจงจากคำถาม 7 ข้อ / โฆษกกองทัพเรือเน้นตอบเพียงข้อเดียวคือ ความตื้นของอ่าวไทยไม่ใช่ปัญหาสำหรับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำจีนซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ โดยอ้างอิงถึงการฝึก “การ์เดียน ซี” (Guardian Sea) เมื่อปีที่แล้ว ที่เรือดำน้ำของสหรัฐเข้ามาทำการฝึกร่วมกับไทยได้ในอ่าวไทย

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ

(ข้อโจมตีว่าอ่าวไทยน้ำตื้นนั้น ในสงครามโลกที่ผ่านมา เรือดำน้ำที่ใช้กัน ก็ไม่ใช้ระดับลึก การพัฒนาเทคโนโลยีปัจจุบัน ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน อาวุธใต้น้ำ สามารถยิงขึ้นบนฝั่งได้ ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว ไทยก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน เพื่อดูแลความมั่งคั่งในศาสตร์ทางทะเล ขอย้ำว่า ไปนอกโลกง่ายกว่าไปใต้ทะเล....ส่วนเรื่องทะเลไทยตื้นนั้น ขอย้ำว่า การยิงอาวุธ ไม่นิยมยิงในน้ำลึก ที่สำคัญการฝึก Guardian Sea ปีที่แล้ว เรือดำน้ำของสหรัฐฯ ยังเข้ามาทำการฝึกร่วมกับไทยได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบเรื่องนี้ได้)

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เป็นเรื่องสเปคของเรือดำน้ำจีนตามเอกสารที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย โฆษกกองทัพเรือไม่ตอบ เพราะไม่ยืนยันว่าเป็นเอกสารจริง และยังอ้างว่าโครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงไม่สามารถพูดอะไรได้

นอกจากนั้นยังมีคำชี้แจงของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งเข้าร่วมการเสวนาของกองทัพเรือ บอกว่า เรือดำน้ำมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยสำรวจและดูแลทรัพยากรของไทยซึ่งมีมากมายในท้องทะเล

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

(ประเทศไทยยังมีทรัพยากรทางทะเลที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล เพราะเรามีข้อจำกัดในการใช้ และส่วนตัวคิดว่า กองทัพเรือมีบทบาทในทรัพยากรทางทะเลมากที่สุด ที่จะช่วยทั้งเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ เพราะผลประโยชน์ทางทะเลมีอย่างมหาศาล เรือดำน้ำ ด้านหนึ่งคือความมั่นคง เพราะพื้นที่ของไทยติดทะเล กว่า 3 พัน กิโลเมตร ที่สำคัญเป็นพื้นที่เปิด หากไม่มีเรือดำน้ำก็จะเสียโอกาส เพราะมันจะช่วยสำรวจตรวจตราทรัพยากรทางทะเล ซึ่งถ้าตรวจปกติคงทำไม่ได้ จึงอยากให้มองทั้งมิติความมั่นคง และเศรษฐกิจทางทะเล ทำให้ประเทศพัฒนาทรัพยากรทางทะเลไปข้างหน้าได้ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ในอนาคต และกองทัพเรือ ก็เป็นส่วนสำคัญ แต่เมื่อมีฝ่ายต่อต้าน ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันอธิบาย)

การชี้แจง 2 ประเด็นดังกล่าว ถูกตั้งคำถามย้อนกลับจากผู้รู้หลายคน

ประเด็นแรก ที่อ้างถึงการฝึก “การ์เดียน ซี” เรือดำน้ำสหรัฐซึ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดใหญ่ยังเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ / ประเด็นนี้มีข้อมูลจากคนในกองทัพเรือเองว่า จริงๆ แล้วเมื่อเข้าเขตอ่าวไทย เรือดำนํ้าสหรัฐแล่นบนผิวนํ้า เพราะความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยตื้นเกินไปที่จะปฏิบัติการอย่างปลอดภัย

ประเด็นที่สอง การใช้เรือดำน้ำสำรวจและดูแลทรัพยากรทางทะเล ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งว่า เรือดำน้ำที่ใช้ในทางการทหาร เป็นคนละแบบกับ “ยานใต้น้ำ” ที่ใช้สำรวจทรัพยากรทางทะเล เพราะมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่แตกต่างกันมาก และราคาของ “ยานใต้น้ำ” ก็ถูกกว่าเรือดำน้ำที่ใช้ในทางการทหารด้วย

นอกจากประเด็นทางเทคนิคเกี่ยวกับสเปคของเรือดำน้ำที่กำลังจัดซื้อจัดหาแล้ว ในภาพใหญ่เชิงยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ ก็ถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังเช่นกัน เพราะรูปแบบของภัยคุกคามทางทะเลที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้งปัญหาผู้อพยพ เช่น โรฮิงญา และปัญหาการขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำ แต่ใช้เรือผิวน้ำจะมีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนความขัดแย้งขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาค เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ไทยต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข / นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำ แต่เงื่อนไขเรื่องจังหวะเวลา / จำนวนที่จะจัดซื้อ / ราคา และคุณภาพ / รวมถึงความเหมาะสมกับยุทธบริเวณและภารกิจที่จะใช้งาน คือคำถามที่กองทัพเรือและรัฐบาลในฐานะผู้ผลักดันให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำต้องตอบให้ชัด เพราะเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล / ก่อหนี้ผูกพันมากกว่าสิบปี ซึ่งคนไทยทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ที่มา : http://www.now26.tv/view/102896