Admin 5 เม.ย. 2560

ก.วิทย์ จับมือ 50 หน่วยงานสนับสนุน EECi ยกระดับอุตฯ-เศรษฐกิจ

560000003622101

ก.วิทย์ จับมือ 50 หน่วยงาน สนับสนุน EECi หวังยกระดับอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัตกรรม หนุนไทยแลนด์ 4.0

วันที่ 5 เม.ย. กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi ร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 หน่วยงาน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หนุนไทยแลนด์ 4.0 ณ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับพันธมิตรที่จะร่วมมือพัฒนา EECi ในขณะนี้ประกอบด้วย ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน 20 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

ส่วนหน่วยงานสถาบันการศึกษา 15 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยของแก่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนั้น ยังมีสถาบัน และมหาวิทยาลัยต่างประเทศด้วย

ดร.อรรชกา กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถาบันวิจัยในประเทศ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ

โดย EECi นั้นจะตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 แห่ง คือ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นที่ตั้งของ ARIPOLIS ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ และ BIOPOLIS อุตสาหกรรมชีวภาพ และพื้นที่อุทยานรังสรรค์วัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำนักงานฯ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้พัฒนา “เขตวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EECi ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการวิเคราะห์ทดสอบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก

โดยในพื้นที่ EECi ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม โรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต รวมถึงกำหนดให้ EECi เป็นเขตผ่อนปรนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถทดสอบนวัตกรรมใหม่ได้ นอกจากนี้ EECi ยังจะดำเนินกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย

สำหรับกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EECi จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ และศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

โดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi เป็นพื้นที่ส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมเดิม สร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ด้วยการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย และภาครัฐ รวมถึงชุมชนในพื้นที่ อันจะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

560000003622102 560000003622103

ที่มา : http://www2.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000034911