Admin
3 ก.พ. 2566
เจ้าหน้าที่เร่งเก็บอวนประมง หลังพบคลุมแนวปะการังเสียหาย ทำปลาทะเลตายหลายชนิด
เจ้าหน้าที่และหน่วยงานจิตอาสาลงพื้นที่ เก็บอวนประมงในทะเล หลังโซเชียลแชร์ภาพ อวนคลุมแนวปะการังเสียหาย ซ้ำร้ายมีปลาหลายตัวติดอยู่ข้างใน
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวจากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก Tat Kewngaam ที่โพสต์ภาพอวนจับปลาในทะเล พร้อมระบุข้อความว่า " ต้องการความช่วยเหลือด้วยครับ ก่อนที่จะสูญเสียมากไปกว่านี้ ขอบอกเลยว่าช่วงนี้ ที่เกาะกระดาน ทะเลตรัง เจอแบบนี้เยอะมาก และวางอวนกันใกล้หน้าที่ทำการอุทยานเลย ได้เหรอครับ ผมไม่ต่อต้านคนทำมาหากินทางทะเลนะ แต่อยากให้มีจิตสำนึกในสิ่งที่ทำ และอยากให้อุทยานช่วยดูแลตรงนี้หน่อย ช่วงนี้บ่อยเหลือเกิน ขอวอนผู้เกี่ยวข้องครับ "
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบ นายโสภณ คิ้วงาม หรือ ครูทัช อายุ 45 ปี ผู้โพสต์ข้อความกล่าวว่า วันนี้ตนและทีมนักประดาน้ำจิตอาสา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และ อบต.เกาะลิบง ได้ร่วมกันเก็บกู้ซากอวนที่ลอยมาติดแนวปะการัง หลังจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา พาเด็กมาฝึกดำน้ำแถวอ่าวเนียงแล้วพบว่า เศษอวนไปคลุมแนวปะการัง และมีปลาหลายชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ต่างก็ติดอวนไปไหนไม่ได้ ตนและนักเรียนจึงช่วยกันแกะอวนบางส่วนออกมาก่อน
จากการประเมินด้วยสายตาแนวปะการังอาจจะได้รับความเสียหายบ้าง ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานย่อมไม่ส่งผลดี จึงพูดคุยกับทีมงานจัดทีมลงเก็บกู้ครั้งนี้ โดยใช้ทุนส่วนตัวและผู้มีจิตอาสาที่ช่วยกันมา อย่างไรก็ตาม ฝากนักท่องเที่ยว และหลายๆ คนให้ช่วยกันลดใช้ขยะให้น้อยลง อย่าทำลายทรัพยากรตัวเอง เพราะถ้าถูกทำลายไปเรื่อยๆ อนาคตก็จบ
ซึ่งพื้นที่ที่พบเศษอวน คือบริเวณอ่าวเนียง ทิศใต้ ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่ จม.3 (เกาะกระดาน) จมอยู่ที่ระดับความลึก 8 เมตร ตรวจสอบพบมีเศษอวนคลุมแนวปะการัง เป็นทางยาวกว่า 100 เมตร นักประดาน้ำจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันเก็บกู้ โดยใช้ความระมัดระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายกับแนวปะการัง ใช้เวลาดำน้ำประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถเก็บกู้ได้ เบื้องต้นพบเป็นเครื่องมือประมงชนิดอวนลอย มีความยาวประมาณ 100 เมตร น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และได้ทำรายงานชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ถึงประเด็นการทําประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ดังนี้
- จัดระเบียบการทําประมงพื้นบ้าน ในเขตอุทยานฯ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ภายใต้ระเบียบ กฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ
- ประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ให้องค์ความรู้ ความเข้าใจ แก่ชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- ควบคุม กําชับการทําประมงตามวิถีชีวิตพื้นบ้านในพื้นที่อุทยานฯ ให้ปฏิบัติตามข้อตกลง ระเบียบ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด
- บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทําความผิดอย่างเข้มข้น.
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์