Admin
10 ม.ค. 2566
'อช.หมู่เกาะสิมิลัน'ออกมาชี้แจงด่วน หลังโดนซัดนทท.เหยียบปะการัง
โซเชียลกระหน่ำ! สิมิลันใช้ฟินสั้น เหยียบปะการัง จี้เจ้าหน้าที่-ผู้ประกอบการเร่งตรวจสอบ กฎระเบียบคุมเข้ม
6 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีมีสื่อโซเชียลใช้ชื่อ ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND โพสต์ข้อความ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ว่า
" อช. หมู่เกาะสิมิลัน - ว่าแล้วเรื่องก็เกิดอีก รอบนี้นักท่องเที่ยวทั่วไป (ไม่ใช่ฟรีไดฟ์ ไม่ใช่สกูบ้า) เช่าฟินสั้น ลงน้ำตื้น เหยียบปะการังเข้าให้ เอาล่ะจุ้ย พี่ครับๆ แบนฟรีไดฟ์แล้ว แบนฟินยาวแล้ว รอบนี้แก้ยังไงดีครับ แบนฟินสั้น แบนนักท่องเที่ยวทั่วไปด้วยเลยมั้ยครับ!! ปิดเกาะไปเลยมั้ยพี่ ดีต่อการฟื้นฟูนะ!!! ทีนี้เรามาดูการแก้ปัญหาแบบที่ผ่านมาของอุทยานกัน แบบหัวชนฝา เช่น
- เรือลิฟอะบอร์ดทิ้งสมอโดนปะการัง แก้ด้วย รับส่งด้วยเรือดิงกี้เท่านั้น ให้เรือจอดไกลออกไป (ซึ่งดิงกี้ไทยลำเล็กมากและไม่ได้มีบันไดพาดสำหรับขึ้นเรือแบบต่างประเทศ) ต้องรับส่งกี่รอบถึงจะครบทุกทีมคิดเอา
- เล่นสไลเดอร์ยักษ์ลงมาทับกันแขนหัก งั้นห้ามเล่นกีฬาผาดโผน (extreme) ในเขตอุทยาน ให้ถือว่าสไลเดอร์ยักษ์เป็นกีฬาผาดโผน ดังนั้น แบนสไลเดอร์ยักษ์ซะ
- ทราบว่าฟรีไดฟ์ฟินยาวทำปะการังพัง งั้นแบน ฟรีไดฟ์ฟินยาว
- ฟรีไดฟ์ ถือเป็นกีฬาผาดโผน งั้นแบน ฟรีไดฟ์
- พอแบนฟินยาวด้วย แบนฟรีไดฟ์ด้วยในอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน และยังไม่มีหมายประกาศ อุทยานฯ เลยให้ผู้ประกอบการให้เช่าได้แค่ฟินสั้น
- พอเช่า/นำไปใช้เองได้แค่ฟินสั้น ก็เป็นแบบในภาพ
เมื่อวานนี้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม ให้แนวทางอุทยานฯ ในการทำงานผ่านโพสต์เพจเฟสบุ้คว่า "ถ้าเปิดแล้วดูแลไม่ได้ อย่าเปิดดีกว่าครับ" ภาพ/เบาะแส จากกลุ่มนักดำน้ำแห่งหนึ่งใน Facebook Group
ปล. ประกาศเรื่องฟรีไดฟ์ งดห้ามได้ไม่ได้ยังไงในสิมิลัน รีบประกาศด้วยนะ!! "
พร้อมมีภาพประกอบ โดยมีการติดแฮทแท็กถึง วราวุธ ศิลปอาชา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หลังจากมีการโพสต์ มีการเข้าชมกว่า 1,500 ครั้ง แสดงความคิดเห็นกว่า 150 ครั้ง


ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้แจ้งสื่อมวลชนในกรณีนี้ว่า อุทยานฯสิมิลัน ได้แจ้งทางไลน์กลุ่มผู้ประกอบการฟรีไดฟ์ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ในการกำหนดจุดการดำน้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำลึก ส่วนที่ปรากฏในภาพมีลักษณะเหมือนน้ำตื้นซึ่งบริเวณแหล่งดำน้ำตื้นตามภาพไม่พบว่ามีหรืออาจจะถ่ายภาพขณะน้ำทะเลลดลงก็เป็นไปได้
เบื้องต้น มีการนำทุ่นไข่ปลามาวางกั้นพื้นที่เล่นน้ำตื้นเพื่อกำหนดพื้นที่ไม่ให้กระทบแก่แนวปะการัง ส่วนการใช้ฟิน ทางผู้ประกอบการฟรีไดฟ์เข้าใจถึงข้อกำหนดการใช้ มีการอบรม มีใบผ่านการฝึกอบรมและมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ซึ่งกำหนดจุดฟรีไดฟ์ไว้ 3 จุดเท่านั้น
ด้านผู้ประกอบการรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ลงในสื่อโซเชียลตนไม่คิดว่าในเขตอุทยานฯสิมิลัน เนื่องจากผู้ประกอบการฟรีไดฟ์ทราบดีว่าควรปฏิบัติอย่างไร โดยการดำน้ำผู้ดำน้ำต้องผ่านการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติและมีข้อห้ามเพื่อให้ปลอดภัยต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
ส่วนนักท่องเที่ยวฟรีไดฟ์ กล่าวว่า ที่เข้ามาดำน้ำในเขตอุทยานฯสิมิลัน ตนเองได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ของภาครัฐ และทางผู้ประกอบการทุกอย่าง อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการมีสามัญสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแน่นอน
ที่มา: แนวหน้า