Admin 8 ธ.ค. 2565

ม็อบทวงคืนชายหาด ปักหลักทำเนียบ ค้านสร้างกำแพงกันคลื่น จี้ยกเลิกมติครม.

ม็อบทวงคืนชายหาด ปิดถนนหน้าทำเนียบ ค้านสร้างกำแพงกันคลื่น จี้ 'บิ๊กตู่' ยกเลิกมติครม. เผย ปักหลักค้างแรม รอผลเจรจาหน่วยงาน

7.1

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 7 ธ.ค. 2565 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และกลุ่ม "บีช ฟอร์ ไลฟ์" นำโดยนายเจกะพันธ์ พรหมมงคล หรือนายเรียง สีแก้ว คณะทำงานสภาประชาชนภาคใต้ และนายอภิศักดิ์ ทัศนีย์ ผู้ประสานงานกลุ่มบีช ฟอร์ ไลฟ์ นัดชุมนุมคัดค้านไม่ให้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นในทะเล

โดยกลุ่มดังกล่าวได้ตั้งแนวขวางถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตั้งแผงเหล็กปิดขวางตามแนวสะพาน ปิดเส้นทางการจราจรหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่แยกพาณิชยการจนถึงแยกมิสกวัน ส่งผลให้การจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกติดขัดอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเลิกงาน และกำลังเดินทางกลับบ้าน

กลุ่มดังกล่าวได้ยื่นขอติดตามเรื่องที่เคยยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไปแล้วก่อนหน้านี้ และย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง คือ

1.ขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2534 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สร้างกำแพงป้องกันชายฝั่ง

2.การสร้างกำแพงกันคลื่น ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนที่จะพิจารณาก่อสร้างกำแพง เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม

3.ขอให้กำหนดให้มีแผนฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากกำแพงกันคลื่น โดยมีนายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสาธิต สุทธิเสริม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการประสานมวลชนและองค์กรประชาชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง พร้อมพูดคุยเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม

นายเจกะพันธ์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ เดินทางมาติดตามความคืบหน้า หลังจากที่ได้มายื่นหนังสือถึงนายกฯ สำหรับกำแพงกันคลื่นนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดที่เป็นชายฝั่งทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างกำแพง ทำให้ชายหาดหายไปเป็นแนวยาว และส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บางพื้นที่เกิดการกัดเซาะแบบชั่วคราว แต่การใช้โครงสร้างแข็งเป็นกำแพงกันคลื่นนั้น มันไม่สมเหตุสมผล

นายเจกะพันธ์ กล่าวต่อว่า การสร้างกำแพงความยาว 2 กิโลเมตร ทำให้ชายหาดหายไปหมด นักท่องเที่ยวก็หายไปด้วย ดังนั้น ผลเสียคือมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว การกระจายรายได้สู่ชุมชน และระบบนิเวศชายฝั่ง ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขอให้พิจารณาสร้างกำแพงกันคลื่นตามความจำเป็น บางพื้นที่ไม่ได้เกิดการกัดเซาะรุนแรง แค่กัดเซาะชั่วคราว แต่กลับไปใช้โครงสร้างชั่วโคตร วิธีการแก้ไขปัญหา เช่น การปักไม้ถ่ายเททรายให้เป็นเนินทราย ซึ่งเป็นมาตรการสากลที่ใช้กันอยู่ แต่บ้านเรากลับไม่ใช้วิธีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ยืนยันที่จะปักหลักชุมนุมค้างแรม อยู่ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อรอผลการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะมีการประชุม ในเวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานก.พ.เดิม ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้

ที่มา: ข่าวสด