Admin 28 พ.ย. 2565

มทร.ศรีวิชัยวิทยาตรัง ต่อยอดหอยนางรมคอนโด พร้อมสร้างนวัตกรชุมชน พัฒนาโมเดลธุรกิจ

7.1

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่กระชังหอยนางรม พื้นที่ ม.7 บ้านทรายแก้ว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง น.ส.กัตตินาฏ สกุลสวัสดิพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมคณะทำงานนำผู้สื่อข่าวลงไปตรวจสอบความคืบหน้า โครงการ "ส่งเสริมการเลี้ยงหอยนางรมแก่เกษตรกรชุมชนชายฝั่งเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจประมง" เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนชายฝั่ง และสร้างนวัตกรชุมชนให้มีความรู้ความสามารถถ่ายทอดส่งต่อไปยังเกษตรกรรายอื่น

โครงการดังกล่าว เป็นการส่งเสริมเกษตรกรชุมชนชายฝั่งเลี้ยงหอยนางรมเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจาก โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ต.วังวน อ.กันตัง ด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม บ้านแหลม ปัจจุบันได้ขยายผลโครงการ สร้างนวัตกรชุมชนชายฝั่งส่งเสริมการเลี้ยงหอยนางรม โดยส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงหอยนางรมจากโรงเพาะฟักและบ่อดินสำหรับขยายผล พัฒนาทักษะเกษตรกรรุ่นใหม่สำหรับเป็นผู้เพาะเลี้ยงหอยรางรม รวมถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสำหรับเกษตรกร

7

นายสะปีอี เทศนำ เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม กล่าวว่าตน พูดคุยขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงหอยนางรมแบบคอนโด จาก ผศ. ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว หัวหน้าโครงการ เพื่อเริ่มทำการเลี้ยงหอยนางรม โดยนำพันธุ์หอยนางรม ที่มีขนาด 4 ซม. จากโรงเพาะฟักของมหาวิทยาลัย จากนั้นได้ทำการเลี้ยงหอยนางรมในกระชังขนาด 4*4 เมตร ปัจจุบันเลี้ยงหอยนางรมมีอายุประมาณ 8 เดือน ซึ่งได้ขนาดเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งปกติ การเลี้ยงให้หอยนางรมมีขนาดโตเต็มที่ ก็จะใช้ระยะเวลา 1ปี จึงจะสามารถเก็บผลประโยชน์ จำหน่ายได้ในราคาตัวละ 20-25 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวหอย และยังได้รสชาติที่มีความหวานนุ่ม สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค

น.ส.กัตตินาฏ สกุลสวัสดิพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งบประมาณ 2565 ก่อนหน้านี้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนบ้านแหลมที่ประสบความสำเร็จ ได้มีการเลี้ยงแบบนวัตกรรมตะกร้า 3 ชั้น การเลี้ยงแบบนี้มีอัตราการรอดที่สูงแล้วก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นตอนนี้ขยายผลไปแล้ว 5 ชุมชน ในตรัง กระบี่และสุราษฎร์ธานี เริ่มตั้งแต่ให้เกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ จากนั้นนำมาอนุบาลในพื้นที่ธรรมชาติหรือว่าบ่อดิน เมื่อมีผลผลิตแล้วก็ส่งเสริมไปยังโมเดลทางธุรกิจพร้อมทั้งสร้างนวัตกรรมชุมชนค่ะเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้นำไปสร้างเครือข่าย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์