Admin 29 มี.ค. 2560

นักวิชาการแนะโครงการโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ส่วนที่ 2 ต้องมีรายละเอียดด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

560000003327601

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เสนอแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ส่วนที่ 2 ต้องมีรายละเอียดการประเมิน และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ รายงาน EIA ต่อไป

วันที่ 29 มี.ค. นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ส่วนที่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ณ ศาลาประชาคมอ่าวอุดม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ประธานชุมชนในพื้นที่รอบโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ และประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงกลั่นในพื้นที่แหลมฉบัง และพื้นที่ศรีราชา กว่า 500 คน ร่วมประชุมในครั้งนี้

นายเทิดชาติ ผดุงรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มีความประสงค์จะพัฒนาโครงการโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ส่วนที่ 2 โดยจะติดตั้งหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ 1 หน่วย ขนาดกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 253,470 บาร์เรลต่อวัน พร้อมติดตั้งหน่วยกลั่นสุญญากาศ และหน่วยบำบัดสารเจือปนในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หน่วยกำจัดกำมะถันในแนฟทาโดยใช้ก๊าซไฮโดรเจน และหน่วยกำจัดกำมะถันจากน้ำมันก๊าด โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้ คือ ก๊าซเชื้อเพลิง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และสารตั้งต้นสำหรับเข้าสู่กระบวนการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป พร้อมกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันอื่นๆ

โดยที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ส่วนได้เสียไปแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือ เดือนพฤษภาคม และเดือนกันยายน 2558 และล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2559 และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เคยนำเสนอให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียไปแล้ว

ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA ใหม่ จึงได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของผู้ที่เข้าร่วมมาประกอบการพิจารณาศึกษาและทำประเมินผลกระทบของโครงการ ก่อนที่จะมีการนำผลการศึกษากลับมาชี้แจงให้ประชาชนทุกคนทราบในครั้งต่อไป

ด้าน นางปราณี โอรักษ์ ผู้อำนวยการส่วนแผนสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) กล่าวถึงแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ด้านประเมินเชิงปริมาณ ซึ่งประเมินเป็นตัวเลข หรือปริมาณนั้นจะต้องมีการแจกแจง โดยเฉพาะการปล่อยมวลสารมีปริมาณเท่าไรต่อวัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานในเชิงคุณภาพด้วย

ส่วนการประเมินเชิงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งค่าการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแต่ละพารามิเตอร์ที่วางแผนไว้อาจมีผลกระทบต่อประชาชน โดยต้องนำผลที่ตรวจวัดได้ไปเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน

นางปราณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ด้านคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ระดับเสียง กากของเสีย อันตรายร้ายแรง และด้านการคมนาคมขนส่ง โดยจะต้องแจกแจงรายละเอียดต่างๆ เช่นกัน เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA ต่อไป

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชาติ สุขารมณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า ทางบริษัทฯควรแจกแจงรายละเอียด และขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการผลิตมีการดำเนินการอย่างไร สารที่ปลดปล่อยออกมามีอะไรบ้าง และผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับมีอะไร นอกจากนั้น ควรให้ 3 ฝ่าย คือ ส่วนราชการในพื้นที่ บริษัท และตัวแทนชุมชน ร่วมรับทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นพร้อมวางแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ส่วนได้เสียในครั้งนี้ ทางบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ นำไปเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาศึกษาและทำประเมินผลกระทบของโครงการต่อไป

560000003327602

บริษัทไทยออยล์ ชี้แจงรายละเอียดต่างๆให้ประชาชนในพื้นที่รอบโรงกลั่นได้รับทราบ

560000003327603

มีประพชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000032067