Admin 26 มี.ค. 2560

เปิดข้อมูล 5 ปี ปริมาณขยะโฟมเพิ่มขึ้น 61 ล้านใบ

0547d1

จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบประชาชนใช้กล่องโฟมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชน ลด ละ เลิก

โฟม เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้สารเร่ง หรือ ยาพอง ทำให้เกิดการฟูจากการใช้ความร้อน และนำมาอัดในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกัน โฟม ถือเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในช่วง5ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555-2559 พบว่าปริมาณขยะประเภทโฟมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 56 ล้านใบต่อวันเป็น 61 ล้านใบต่อวัน เมื่อมาดูข้อมูลล่าสุด ในปี 2559 มีปริมาณขยะประเภทโฟมเกิดขึ้น ประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี เฉลี่ยวันละ 3,704ตันต่อวัน รวมประมาณ 61 ล้านใบต่อวัน โดยคนไทยสร้างขยะประเภทโฟม 1 ใบต่อคนต่อวัน

โฟมเป็นขยะที่คงทนและสามารถทนต่อแรงอัดได้สูง และใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปี เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น เช่น ถุงพลาสติก ใช้เวลา 450ปี กระป๋องอะลูมีเนียม 80-100 ปี ถ้วยกระดาษเคลือบไข 5 เดือน เศษกระดาษ 2-5เดือน

โฟมส่วนใหญ่ที่เราใช้ มักใช้ในรูปแบบภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งเมื่อผ่านการใช้แล้วจะปนเปื้อนคราบน้ำมันและคราบสกปรก การจะนำมารีไซเคิลจึงต้องผ่านกระบวนการที่ยากขึ้นและต้นทุนสูง สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ต้นทางการผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ นำโดย สำนักคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับหลายฝ่ายได้หารือถึงมาตรการลดการใช้โฟม เช่น การทำฉลากปิดบนภาชนะโฟม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนกำหนดรูปแบบฉลาก คาดว่าภายในปีนี้จะเริ่มมีการบังคับใช้

การ ลด ละ เลิกใช้โฟม ไม่ใช่เรื่องยาก หากประชาชนทุกคน ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลือกบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะโฟมก็อาจจะลดลงได้

ที่มา : http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=132980&t=news_special