Admin 18 ส.ค. 2565

'วราวุธ' ต่อเนื่อง 'มาเรียมโปรเจค' เตรียมจัดตั้งสถาบันวิจัย อนุรักษ์พะยูน-สัตว์ทะเลหายาก

1

เวลา 09.30 น. วันที่ 17 สิงหาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์วันพะยูนแห่งชาติ (Dugong & Seagrass Week 2022) และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดตรัง ร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ (ปกท.ทส ) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะผู้บริหาร ทส. ผู้บริหารสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และภาคีเครือข่าย โดยมี นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อ.เมือง จ.ตรัง

นายวราวุธ กล่าวว่า นับตั้งแต่การสูญเสียพะยูน "มาเรียม" เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 จนถึงวันนี้ ครบ 3 ปี กระทรวงฯ ไม่เคยหยุดทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟู เพิ่มจำนวนพะยูนรวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทย และในวันนี้ นับเป็นการจัดงานครั้งแรก เนื่องใน "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" ซึ่งภายใต้ "มาเรียมโปรเจค" ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติจาก 250 ตัว เป็น 265 ตัว และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 280 ตัว ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรังที่นับว่าเป็นแหล่งพะยูนและหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนจังหวัดตรังและภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะการจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล

โดยในช่วงบ่าย รมว.ทส. และ ปกท.ทส. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารที่จะจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดตรัง พร้อมรับฟังบรรยายสรุปและชมการสาธิตแนวทางการฟื้นฟูหญ้าทะเล ตลอดจนร่วมปล่อยเต่าทะเล ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งอยู่บริเวณอ่าวสิเกา โดยสถาบันวิจัยฯ ดังกล่าว เป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เวลาในการดำเนินงาน 15 ปี ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์รักษาและฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากที่เจ็บป่วย ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก และศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทั้งนี้ รมว.ทส. กล่าวว่า ในเบื้องต้น เป็นการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ และโครงสร้าง ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด

ที่มา: มติชน