Admin 11 ส.ค. 2565

สลด จนท.ฝรั่งเศสช่วยวาฬเบลากาติดในแม่น้ำแซนไม่สำเร็จ จำใจต้องการุณยฆาต

สัตวแพทย์จำใจต้องทำการการุณยฆาตวาฬเบลูกา ซึ่งหลัดหลงจากทะเลเข้ามาติดในแม่น้ำแซนนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว หลังจากร่างกายของมันอ่อนแอลงมาก

1 สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 10 ส.ค. 2565 สัตวแพทย์ฝรั่งเศสตัดสินใจทำการุณยฆาตวาฬเบลูกา ซึ่งพลัดหลงจากทะเลเข้ามาติดอยู่ในแม่น้ำแซน บริเวณเมืองนอเทรอดาม เดอ ลา-แกแรง ในแคว้นนอร์ม็องดี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ส.ค.แล้ว หลังจากสุขภาพของมันทรุดโทรมลงเนื่องจากไม่ยอมกินอาหาร ในวันพุธ เจ้าหน้าที่กู้ภัยมากกว่า 80 นาย พยายามอีกครั้งนานร่วม 6 ชั่วโมงเพื่อพาตัววาฬเบลูกาตัวนี้กลับสู่ทะเล หลังจากนำมันขึ้นเรือเพื่อรับการตรวจสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการขนส่ง แพทย์พบว่าน้ำหนักของมันลดลงจนอยุ่ในระดับอันตรายแล้ว และตัดสินใจทำการุณยฆาตในที่สุด "ระหว่างเดินทาง สัตวแพทย์เน้นย้ำเรื่องสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงของมัน โดยเฉพาะการหายใจ และเราเห็นได้ว่าวาฬตัวนี้มีอาการแอนอกเซีย (anoxia) หรือหายใจได้ไม่เพียงพอ มันกำลังทุกข์ทรมานอย่างชัดเจน เราจึงตัดสินใจว่าไม่มีประโยชน์แล้วที่จะปล่อยมันกลับสู่ทะเล และดำเนินการการุณยฆาต" ฟลอรองซ์ โอลลิเวต์-กูร์ตัวส์ สัตวแพทย์จากสำนักงานกู้ภัยและดับเพลิงกล่าว ก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ให้วิตามินวาฬเบลูกาตัวนี้ โดยหวังว่าจะช่วยทำให้มันอยากอาหาร จนแข็งแรงพอที่จะว่ายออกจากแม่น้ำไปยังช่องแคบอังกฤษซึ่งมีระยะทางยาวถึง 160 กิโลเมตร และว่ายกลับไปยังทะเลอาร์กติกได้ แต่มันไม่ยอมกินอาหารเลย ส่งผลให้น้ำมันของมันลดลงไปอยู่ที่ราว 800 กก. ทั้งที่ควรจะมีน้ำหนักมากถึง 1,200 กก. อนึ่ง แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของวาฬเบลูกาอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก โดยจุดใกล้ฝรั่งเศสที่สุดที่พบวาฬเบลูกาได้คือที่ สฟาลบาร์ หมู่เกาะทางเหนือของนอร์เวย์ ซึ่งห่างจากแม่น้ำแซนถึง 1,900 ไมล์ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่าเหตุใด วาฬเบลูกาตัวนี้จึงพลัดหลงมาไกลขนาดนี้ แต่กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) คาดว่า อาจเป็นเพราะ การละลายของธารน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกเปิดพื้นที่ให้เกิดการเดินเรือ, การประมง และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์มากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสื่อสารและนำทางของวาฬเบลูกา

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์