Admin 20 มี.ค. 2560

เสียงชาวประมงถึงเฟอรี่สู่จุดร่วมทะเลอ่าวไทย

ferry_fishing

นอกเหนือจากเรือประมงของชาวบ้านหัวดอน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้ว ทุกๆวันจะมีเรือเฟอรี่ลำใหญ่เข้าจอดเทียบท่า บริเวณท่าเรือเฟอรี่ข้ามทะเลอ่าวไทย หัวหิน-พัทยา พร้อมนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาจากอีกฝากฝั่งของทะเลคือ พัทยา จ.ชลบุรี ด้วยเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที ตามสภาพอากาศ

โครงการเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออกตะวันตก หรือ โครงการ EAST-WEST FERRY เป็นโครงการของรัฐบาลที่ให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบและมีบริษัท รอยัล พาสเสนเจอร์ ไลเนอร์ เป็นผู้รับสัมปทานเดินเรือ เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นด้วยสภาพอากาศจึงไม่สามารถนำเรือออกสู่ท้องทะเลอ่าวไทยได้แต่ในที่สุด ก็สามารถเปิดให้บริการมาแล้วจนถึงวันนี้ 3 เดือน

ปรีชา ตันติปุระ ประธานกรรมการ รอยัล พาส เจอร์ ไลเนอร์ บอกว่า การเดินเรือเฟอรี่ข้ามทะเลอ่าวไทย จะทำเส้นทางการท่องเที่ยวทะเลตะวันออก-ตะวันตกเปลี่ยนไป จากเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางโดยมีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีทั้งกลุ่มยุโรป คนไทย และเอเชีย โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 2 จะมีแนวโน้มดีขึ้น

อีกด้านหนึ่งของท่าเรือเฟอรี่ข้ามทะเลอ่าวไทย คือ หมู่บ้านชาวประมงบ้านหัวดอน ที่มีอยู่กว่า 200 ครอบครัว แม้ในช่วงแรกพวกเขายอมรับว่ายังไม่ชินกับเสียงการก่อสร้างและตะกอนขุ่นที่เข้ามาในร่องน้ำ แต่เมื่อโครงการแล้วเสร็จสภาพของท ทรัพยากรที่ใช้เวลาฟื้นตัวกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ ก็มีปัญหาการขุดลอกร่องน้ำไปทิ้งกลางทะเลในจุดที่มีผลกับการหากินของสัตว์น้ำและเครื่องมือประมง สะท้อนให้เห็นถึง ความเจริญ และ วิถีธรรมชาติ เริ่มมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่

ปมปัญหาทิ้งทะเลหากไม่ได้รับข้อตกลงแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวประมงอย่างแน่นอนและอาจจะเป็นลูกโซ่ไปถึงการให้บริการเรือเฟอรี่ข้ามทะเลอ่าวไทย

ทีมล่าความจริง สอบถาม ผู้อำนวยการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จ. ประจวบคีรีขันธ์ วรรณ ชาตรี ถึงการแก้ปัญหาในระยะยั่งยืน ที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง

ต้องยอมรับว่าการออกมาร้องเรียนของชาวประมงบ้านหัวดอนจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานหากมีโครงการในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต หนึ่งคือการฟังเสียงของคนในท้องที่ที่ไม่ใช่เพียงการสร้างหรือไม่ แต่ผลในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและวิถีชีวิต สองคือข้อกำหนดที่รัฐและเอกชนต้องคำนึงถึงและสะท้อนไปถึงนักท่องเที่ยวได้ เพราะในอนาคตตามแผนของกรมเจ้าท่า จะมีการเดินเรือในเส้นทาง พัทยา หัวหิน ปราณบุรี ก่อนที่จะขยายเส้นทางเป็นบางปู – หัวหิน – ปราณบุรี และบางปู พัทยา

เมื่อเศรษฐกิจไทยยังมีการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองที่สำคัญซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามเป็นจุดดึงดูด แต่หลายๆที่ทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกทำลายจากการดูแลในระยะยาววิถีชีวิตท้องถิ่นถูกละเลยจากความเจริญที่รุกล้ำเข้ามาซึ่งมีภาครัฐเป็นกลไกสำคัญนำพาความเจริญเหล่านั้น ไม่ผิดที่ผู้ประกอบการจะเล็งเห็นการพัฒนาต่อยอด ท่าเรือเฟอรี่ข้ามอ่าวไทย หัวหิน-พัทยา ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นที่สนับสนุนการท่องเที่ยว แต่ชาวประมงบ้านหัวดอนก็มีสิทธิออกมาเพื่อรักษาท้องทะเล อันเปรียบเสมือนปากท้องแต่การบริหารจัดการของภาครัฐต่างหากคือกลไกสำคัญที่จะทำให้ทั้งสองอย่างสมดุลไปได้ด้วยกัน


ที่มา : http://www.now26.tv/view/101707