Admin
30 มิ.ย. 2565
'กรมเจ้าท่า' ลุยปั้นโมเดลอ่าว พัทยา-เกาะล้าน ฟื้นท่องเที่ยวไทย
'กรมเจ้าท่า' โชว์ 5 ยุทธศาสตร์ ยกระดับความปลอดภัยทางน้ำ เดินหน้าปั้นโมเดลอ่าวพัทยา-เกาะล้าน แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต จัดระเบียบกิจกรรมทางน้ำ สนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
28 มิ.ย.2565 - นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ กรมเจ้าท่าได้เตรียมนำยุทธศาสตร์ เพื่อการยกระดับความปลอดภัยทางน้ำ รองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่ไทยติดอันดับโลกเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ดังนั้นจึงได้นำแผนยุทธศาสตร์
ทั้งนี้เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่อ่าวพัทยา และเกาะล้าน จ.ชลบุรี สู่การพัฒนาเป็นโมเดล ก่อนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพราะพื้นที่ทั้งสองแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมทางน้ำหลากหลายรูปแบบ จึงต้องมีการบริหารจัดการกำหนดพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวและประชาชน
อย่างไรก็ตามภายใต้การบริหารจัดการในกิจกรรมทางน้ำตามยุทธศาสตร์กรมเจ้าท่า ได้ออกมาตรการเพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยในระดับสูงสุด 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1.การจัดระเบียบพื้นที่ทางน้ำ (Zoning) กำหนดขอบเขตการใช้พื้นที่ทางน้ำให้มีความชัดเจนมากขึ้น อาทิ การวางทุ่นกำหนดเขตว่ายน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ เป็นการเฉพาะ การวางทุ่นเครื่องหมายจำกัดความเร็วเรือ เพื่อควบคุมพื้นที่การเดินเรือในระดับที่มีความปลอดภัยเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งกำหนดเส้นทางการเดินเรือระหว่างอ่าวพัทยาและเกาะล้าน และกิจกรรมทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ให้บริการลากร่ม Banana boat พร้อมกำหนดพื้นที่ท่าจอดเทียบเรือให้มีความเหมาะสม
นายภูริพัฒน์ กล่าวต่อว่า
2.กำกับดูแลและควบคุมการจราจรทางน้ำ (Monitoring) ด้วยพื้นที่อ่าวพัทยาและเกาะล้าน มีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นสูง และปริมาณเรือที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมเจ้าท่าได้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการจัดระบบ กำกับดูแลและควบคุมจราจร ในพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับกำกับดูแลด้านราคาการให้บริการ โดยมีศูนย์ควบคุมการจราจร และสามารถให้คำแนะนำผ่านระบบวิทยุสื่อสาร ระหว่างเรือ ท่าเทียบเรือ และศูนย์ควบคุมวิทยุโดยตรง รวมทั้งติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในท่าเทียบเรือ และจุดจอดเรือ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทางน้ำ ร่วมกันออกตรวจตราพื้นที่ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจน้ำ, เมืองพัทยา, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี และให้ติดตั้งอุปกรณ์ AIS เพื่อใช้ตรวจจับความเร็วของเรือโดยสารสาธารณะ และตำแหน่งเรือที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที
3.บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพัทยา สร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการเชิงรุกรณรงค์ด้านความปลอดภัย ประชาสัมพันธ์ ช่วยเหลือกู้ภัย และรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ
4.รณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัย มุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุมากกว่าการเยียวยา โดยการกำกับดูแลให้ความรู้และฝึกอบรม ผู้ควบคุมเรือ คนเรือ ทั้งเรือโดยสารสาธารณะ และเรือส่วนบุคคล ออกใบรับรองการทำงานบนเรือโดยสารสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องการันตีและสร้างมาตรฐานความปลอดภัย
นายภูริพัฒน์ กล่าวอีกว่า และ
5.การปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนา กรมเจ้าท่าจะเร่งยกระดับกฎหมายในเรื่องของมาตรฐานเรือ อุปกรณ์เรือ มาตรฐานความรู้ความสามารถของผู้ควบคุมเรือ และคนประจำเรือ การเพิ่มวงเงินคุ้มครองการประกันภัยสำหรับเรือโดยสาร ซึ่งจะครอบคลุมผู้ประสบภัยทางน้ำ เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกัน กำกับดูแลและเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้การยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางน้ำดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ภายหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และไม่สามารถให้บริการได้ในช่วงที่ผ่านมา โดยธุรกิจการเดินเรือมีความสำคัญ ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล
ที่มา: ไทยโพสต์