Admin 19 มี.ค. 2560

ปมร้าวขุดลอกทะเลรับ "เรือเฟอร์รี่" สะเทือนอ่าวไทย

20-3-2560 18-20-17

หลังชาวประมงบ้านหัวดอน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ออกมาร้องเรียนสื่อมวลชนให้ตรวจสอบการทำขุดลอกร่องน้ำ บริเวณ ท่าเรือเฟอรี่ข้ามอ่าวไทย หัวหิน – พัทยาเพราะนำดินตะกอน ดินโคลนที่ขุดลอกขึ้นมา ไปทิ้งกลางทะเลแต่ไม่ใช่จุดที่ตกลงกันไว้ เกิดผลกระทบต่อชาวประมงเพราะจำนวนสัตว์น้ำลดลง ทีมล่าความจริงลงพื้นที่หาสาเหตุและฟังเสียงสะท้อนทุกมุมมอง ทั้งของชาวประมง เหตุผลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไปจนถึงผู้ควบคุมงานการขุดจากรมเจ้าท่า เพื่อนำไปสู่จุดตกลงร่วมกันให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ติดตามในรายงาน

เสียงร้องเรียนของชาวประมงบ้านหัวดอน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังพบว่าเรือขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากคลองบ้านหัวดอน เขาตะเกียบ ที่กรมเจ้าท่ากำลังปรับปรุงและสร้างให้เป็นท่าเทียบเรือเฟอรี่ข้ามอ่าวไทย เส้นทางหัวหินพัทยา นำดินตะกอนที่ขุดขึ้นมาได้นั้นไปทิ้งไว้ในจุดที่พวกเขาอ้างว่าสร้างผลกระทบต่อประการังเทียม และการหากินของสัตว์นำในทะเล

ก่อนหน้านี้ ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2560 ที่ประชุมรับทราบจุดทิ้งดินตะกอนจะห่างจากชายฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 12-14 เมตร เมื่อน้ำลงต่ำสุด เพราะมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นจุดที่ไม่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ปรากฎว่า 5 วันหลังทำการขุดลอกร่องน้ำชาวบ้านพบว่า เรือบาสขนดินตะกอนไปทิ้งในจุดที่ห่างจากชายฝั่งเพียง 4-5 กิโลเมตรเท่านั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลง ชาวประมงบ้านหัวดอนจึงร้องเรียนต่อสื่อมวลชนให้มีการตรวจสอบ

จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (เพชรบุรี) บรรณรักษ์ เสริมทอง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อนำตัวอย่างน้ำส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูค่าของน้ำว่ามีการปนเปื้อนสาร และโลหะหนัก ว่ามีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ พร้อมเปิดเวทีให้ กรมเจ้าท่า และชาวบ้าน หาข้อตกลงร่วมกันซึ่งในเพราะกรมเจ้าท่ายอมที่จะนำดินที่ขุดได้ซึ่งมีอยู่ราว 8 หมื่นตัน ขนไปทิ้งไว้ในพื้นที่ทางการ หรือ สาธารณะประโยชน์ เช่น พื้นที่ วัด

ในตอนแรกที่ดูเหมือนจะตกลงกันได้แต่เมื่อทีมล่าความจริงลงพื้นที่ชาวประมงก็ระบุว่าได้รับการติดต่อจากกรมเจ้าท่าอีกครั้งว่าจะนำดินตะกอนที่ขุดนั้นไปทิ้งในทะเลเช่นเดิมแต่จะในระยะที่ไกลออกไปอีก คือ ประมาณ 10 กิโลเมตร จากฝั่ง เพราะการขนดินไปทิ้งพื้นที่บนบกต้องใช้งบประมาณที่สูง

แต่แกนนำชาวบ้านรายหนึ่งยืนยันจุดยืนของชาวประมงคือการทิ้งบนบกถ้าเป็นไปได้ควรทำข้อตกลงให้ชัดเจน เพราะมเพียงผลกระทบวันนี้แต่ในระยะยาวการขุดลอกก็จะต้องเกิดขึ้นอีก

เขาบอกด้วยว่าไม่ได้ต่อต้านโครงการท่าเรือข้ามอ่าวไทยเฟอร์รี่ แต่การขุดลอกและทิ้งในที่ที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ทำให้ ตะกอนที่เกิดจากโคลนส่งผลทำให้น้ำขุ่นและมีกลิ่นส่งผลให้สัตว์น้ำไม่เข้ามาเพาะพันธุ์

หากผลจากห้องปฏิบัติการออกมาอย่างชัดเจนว่ามีผลกระทบ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)อาจต้องใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 ซึ่งจะใช้ในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อมีผลกระทบต่อปะการังและสัตว์น้ำ

ทีมล่าความจริงจึงสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่ายืนยันว่าพร้อมทำตามข้อตกลงที่ออกมาระหว่างชาวประมงและทางการเพราะไม่ต้องการให้เกิดสร้างความขัดแย้ง ซึ่งการขุดลอกร่องน้ำและนำไปทิ้งทะเลเป็นแผนงานประจำทุกปี และเป็นไปตามหลักสากล แต่หากชาวบ้านมีจุดยืนว่าจะต้องทิ้งในทะเลเท่านั้น ก็ยอมรับว่า จะมีผลกระทบทั้งเรื่องงบประมาณที่สูง กลิ่นดินโคลนที่มีผลกระทบกับชุมชน ถนนพังเพราะต้องใช้รถบรรทุกหลายสิบคัน เขายืนยันว่า การทิ้งดินตะกอนจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 เดือนเพราะการไหลเวียนของน้ำทะเลอยู่ตลอด และการทิ้งในธรรมชาติจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษใดๆ

อย่างไรก็ตาม แผนงานการขุดลอกร่องน้ำท่าเรือเฟอรี่ท่ามอ่าวไทย หัวหินพัทยา จะใช้เวลาทั้งสิ้น 60 วันหรือประมาณ 2 เดือน แต่ขณะนี้ต้องระงับไปก่อนเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ จุดสมดุลระหว่างวิถีทางธรรมชาติ วิถีชีวิตของท้องถิ่นกับความเจริญทางเศรษฐกิจต้องอยู่ควบคู่และเอื้อประโยน์ต่อกันอย่างยั่งยืนไม่ต้องมีฝ่ายใดถูกกลืนหายไปแต่ท้ายที่สุดแล้วหากไม่สามารถหากข้อสรุปร่วมกันได้ชาวประมงบ้านหัวดอน 200 ครอบครัวที่มีเพียงเครื่องมือประมงจะพึ่งวิธีสุดท้ายคือ ถวายฎีกา เพื่อรักษาท้องทะเลอ่าวไทยแห่งหัวหินให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป

ที่มา : http://www.now26.tv/view/101695