Admin 17 มี.ค. 2560

คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา ร่วม 3 หน่วยงานเตรียมจัดเสวนาวิชาการเรื่องสาหร่ายและแพลงก์ตอน

560000002855601

คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา ร่วม 3 หน่วยงานใหญ่ เตรียมจัดงานประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงก์ตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “สาหร่ายและแพลงก์ตอน : วิจัย และการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” หวังเผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งด้านการพัฒนาสาหร่าย และแพลงก์ตอน ร่วมทั้งการเพาะพันธุ์แมงกะพรุน จนทำให้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา สามารถจัดแสดงได้ตลอดทั้งปี

วันที่ 17 มี.ค. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล และชมรมสาหร่ายและแพลงก์ตอนแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการสาหร่ายและแพลงก์ตอนแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “สาหร่ายและแพลงก์ตอน : วิจัย และการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยมี ผศ.ดร.สมถวิล จริตควร หัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ดร.วิชญา กันบัว รองคณบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ และ ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมในการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

โดยจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคมนี้ ณ อาคารปฏิบัติการพื้นฐานและศูนย์เครื่องมือกลาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ความก้าวหน้าด้านผลงานวิจัยของสาหร่ายและแพลงก์ตอนในประเทศไทย จำนวนกว่า 100 เรื่อง ภายในงานจะมีการเสวนาพิเศษโดยบุคคลที่มีความรู้จากหลากหลายหน่วยงาน

ทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์ของแพลงก์ตอน และสาหร่ายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์ ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายขนาดเล็ก (Spirulina sp.) เชิงพาณิชย์” “การเพาะเลี้ยงและการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์” “Photo bioreactor กับการผลิตสาหร่ายขนาดเล็กกับการอนุบาลลูกกุ้งขาวแวนนาไมเชิงพาณิชย์”

และเรื่อง แมงกะพรุน...ประโยชน์...โทษ...เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ในหัวข้อ “ความรู้ในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับแมงกะพรุนที่บุคคลทั่วไปควรรู้และยังไม่รู้” “ความรู้เกี่ยวกับพิษและวิธีรักษาพิษแมงกะพรุน” “มุมมองในแง่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น” “มุมมองในฐานะนักข่าว” ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมงานแล้วกว่า 400 คน และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังอีกด้วย

ผศ.ดร.สมถวิล จริตควร หัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เผยว่า การประชุมทางวิชาการในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่มาร่วมนำเสนอผลงาน ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องสร้างตั้งแต่เด็ก จนถึงบุคคลที่สนใจทั่วไป

ภายในงานจึงมีทั้งการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ด้านแพลงก์ตอนสัตว์ และสาหร่าย รวมถึงเรื่องที่อยู่ในความสนใจในปัจจุบันก็คือ แมงกะพรุน โดยได้เชิญรองผู้อำนวยการสถาบันวิทย์ฯ บรรยายในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตกับการวิจัยแมงกะพรุน” ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นในเรื่องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากสาหร่ายขนาดใหญ่ และแพลงก์ตอนขนาดเล็ก ที่เมื่อเลี้ยงแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร

เช่นเดียวกับ ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ที่กล่าวว่า การเสวนาเรื่องแมงกะพรุน กำลังเป็นที่สนใจของหลายหน่วยงาน แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพา เรามีจุดเด่นตรงที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล สามารถเพาะพันธุ์ได้เอง จึงทำให้ในโซนแมงกะพรุน สามารถที่จะจัดแสดงได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ ได้เชิญผู้ที่ดูแลเรื่องแหล่งเรียนรู้ในการดูแลด้านชีววิทยา มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมเสวนา และให้ความรู้ในเรื่องประโยชน์ และโทษจากแมงกะพรุนด้วย

560000002855602 560000002855603 560000002855604

ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000027480