Admin 15 มี.ค. 2560

ปส.รายงานสรุปเหตุปลาตายหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

รายงานสรุปผลการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีและปัจจัยสิ่งแวดล้อมของน้ำบริเวณคลองระบายน้ำด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

วันที่ 14 มีนาคม 2560

Image

จากเหตุการณ์ที่มีปลาจำนวนนับร้อยตัวลอยตายในคลองระบายน้ำด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา (รูปที่ ๑) ปส. ได้ร่วมกับนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตจตุจักร เก็บตัวอย่างน้ำไปทำการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ปลาตายในครั้งนี้ในเบื้องต้น

จากการตรวจวัดค่าปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved Oxygen, DO) โดยนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักเขตจตุจักร พบว่ามีค่าเกือบเป็น 0 mg/l ส่งผลให้สามารถสันนิษฐาน ได้ว่าปลาที่อาศัยอยู่ในคลองระบายน้ำดังกล่าวอยู่ในสภาวะขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงและเป็นสาเหตุในการตายของปลาในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามจะมีการรายงานผลการวิเคราะห์ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จากห้องปฏิบัติการ ภายใน ๗ วัน เพื่อใช้ประกอบการสรุปสาเหตุการตายของปลาที่แน่ชัดต่อไป

ทั้งนี้ ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้พลังงานปรมาณูของประเทศ ได้เก็บตัวอย่างน้ำรอบ ปส. ไปวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแกมมา ปริมาณกัมมันตภาพรังสีรวมแอลฟาและรวมบีตา เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบการปนเปื้อนของนิวไคลด์กัมมันตรังสีในน้ำรอบ ปส. สำหรับในเหตุการณ์นี้ ปส. ก็ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำจากคลองระบายน้ำดังกล่าว ดังต่อไปนี้

๑. วันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๐ เก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน ๓ ตัวอย่าง เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแกมมา ปริมาณกัมมันตภาพรังสีรวมแอลฟาและรวมบีตา ซึ่งผลการวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแกมมาในน้ำทั้ง ๓ ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของนิวไคลด์กัมมันตรังสี ในน้ำตัวอย่าง สำหรับการวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแอลฟาและรวมบีตา อยู่ในขั้นตอน การเตรียมตัวอย่าง และจะทำการรายงานผลต่อไป

๒. วันอังคารที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ เก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน ๑๕ ตัวอย่าง ภายหลังจากที่มีการนำซากปลาออกไปจากคลองระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว (รูปที่ ๒) เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแกมมา ปริมาณกัมมันตภาพรังสีรวมแอลฟาและรวมบีตา พร้อมทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมของน้ำ เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณออกซิเจนละลาย (mg/l) เป็นต้น เบื้องต้นพบว่าปริมาณออกซิเจนละลายมีค่าอยู่ในช่วง ๐.๑ – ๐.๓ mg/l ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานของแหล่งน้ำผิวดินทั่วๆไป ที่ควรมีปริมาณออกซิเจนละลายในช่วง ๒ – ๖ mg/l (อ้างอิงจากมาตรฐานคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษ) สำหรับผลการวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแกมมา การวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีแอลฟาและรวมบีตาในน้ำ อยู่ในขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง และจะทำการรายงานผลต่อไป

หมายเหตุ เกณฑ์มาตรฐานของปริมาณกัมมันตภาพรังสีรวมแอลฟาในน้ำ = ๐.๕ Bq/l (WHO, 2004)

เกณฑ์มาตรฐานของปริมาณกัมมันตภาพรังสีรวมบีตาในน้ำ = ๑.๐ Bq/l (WHO, 2004)

560000002748902

ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9600000026453