Admin
7 มี.ค. 2565
เศร้า! ไม่เหลือภาพความสวยงาม “ปะการังเขากวางน้ำตื้น” ที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต ผ่านมา 4 ปี ตายเกือบหมด
นักวิชาการเผยภาพ “ปะการังเขากวางน้ำตื้น” ที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต ผ่านมา 4 ปี ตายจำนวนมาก ระบุเป็นเรื่องน่าเศร้า ไม่เหลือภาพความสวยงาม สาเหตุที่ระบุได้เกิดจากผลกระทบปรากฏการณ์น้ำลงมากผิดปกติในช่วงปลายปี 2562
กำลังกลายเป็นกระแสในสื่อโซเชียล หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kongkiat Kittiwatanawong ซึ่งคือ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า “ปะการังเขากวางน้ำตื้น บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเฮ อ่าวกุ้ง ภูเก็ต ที่เคยสวยงามในเนื้อที่เกือบ 1,000 ตารางเมตร ผ่านมา 4 ปี ในวันนี้ดูแล้วเศร้า สาเหตุที่สรุปได้ตอนนี้คือ ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำลงมากผิดปกติในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ IOD (Indian Ocean Dipole) ตามข้อมูลของพี่นิพนธ์ พงษ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญปะการัง สามารถอ่านรายละเอียดใน comments ครับ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพแรกที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ เป็นภาพซากปะการังเขากวางน้ำตื้น ที่ตายเป็นบริเวณกว้าง หลังจากนั้นมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยบางคนเข้ามาสอบถามถึงสาเหตุ บางคนนำภาพที่เคยมีการถ่ายไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มาโพสต์ต่อ และมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
โดยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวว่า ภาพที่นำมาโพสต์เป็นภาพที่ทางเจ้าหน้าลงพื้นที่สำรวจแนวปะการังตามวงรอบ ซึ่งพบว่าจุดดังกล่าวมีปะกังตายเป็นบริเวณกว้าง เมื่อเที่ยวกับ 4 ปีที่แล้ว พบว่าปะการังในจุดเดียวกันเริ่มมีการฟื้นตัวและสวยงาม ส่วนสาเหตุนั้นจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญทราบว่าเกิดจากเรื่องของน้ำลงผิดปกติ ส่วนจะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องหรือไม่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นสาเหตุการตายแบบธรรมชาติต้องรอให้ฟื้นตัวเอง ซึ่งการที่ปะการังจะฟื้นตัวกลับมาได้ต้องใช้เวลานาน สิ่งที่ทำได้คืออย่าไปรบกวนเขา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ขณะที่ นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งใช้เฟซบุ๊กชื่อ Niphon Phongsuwan ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า แนวปะการังที่เกาะเฮ ในอ่าวกุ้ง เกาะภูเก็ต ดงปะการังเขากวาง (Acropora pulchra) ยืนตายหลังจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำลงมากผิดปกติในช่วงปลายปี 2562
นอกจากนั้น ยังได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์น้ำทะเลลดลงต่ำมากผิดปกติ เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่นในปี 2540, 2549 และปี 2562 แต่ละปีอาจมีความรุนแรงต่างกัน เช่น ในปี 2540 ระดับน้ำได้ต่ำกว่าปกติประมาณ 30 เซนติเมตร (หมายความว่าน้ำยังคงขึ้น-ลง เป็นวัฏจักรตามปกติ แต่ระดับน้ำต่ำกว่าเดิมได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ในช่วงเดือนที่ peak สุด)
ในปี 2562 ก็เช่นกัน ระดับน้ำต่ำกว่าเดิมได้มากถึง 15 เซนติเมตร การที่น้ำลงต่ำกว่าปกติ ทำให้ปะการังตรงโซนที่ตื้นโผล่พ้นน้ำนานกว่าปกติตามไปด้วย (เช่น เดิมเคยโผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำแห้งเต็มที่ช่วงน้ำเกิดราว 2 ชั่วโมง แต่กลับกลายเป็นโผล่พ้นน้ำนาน 3-4 ชั่วโมง) เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดต่อเนื่องไป 2-3 เดือนหรือนานกว่านั้น (โดยความรุนแรงค่อยๆ เกิด จนถึงจุดพีก รุนแรงสุด แล้วค่อยๆ ลด จนกลับสู่สภาพปกติ) ทำให้ปะการังปรับตัวในสภาพอย่างนั้นไม่ได้ ปะการังตรงโซนที่ตื้นตายไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น ยังได้แสดงความคิดเห็นอีกหลายครั้ง โดยระบุ หากปะการังไม่สามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะปะการังตรงบริเวณที่ตื้น ที่โผล่พ้นน้ำ และถูกแสงแดดแผดเผาเป็นระยะเวลานานขึ้นตอนน้ำลง ปะการังนั้นจะตายไป หากพื้นที่นั้นอยู่ในบริเวณน้ำขุ่น มีตะกอนมาก เช่นใกล้ป่าชายเลน หรือร่องน้ำเดินเรือซากหินปะการังมักจะถูกปกคลุมด้วยตะกอน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของแนวปะการัง แต่ตะกอนอาจถูกพัดพาค่อยๆ หายไปได้หากพื้นที่นั้นมีคลื่นลมมรสุมหรือกระแสน้ำไหลเวียนดี พัดพาตะกอนออกไป ซึ่งแต่ละแห่งมีอัตราการฟื้นตัวต่างกันไป การฟื้นตัวจะเกิดเร็วขึ้นหากไม่มีสิ่งรบกวนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การเดินเหยียบย่ำบนแนวปะการัง การพลิกรื้อปะการังเพื่อค้นหาหอย ปู หรือหมึกยักษ์ที่ซ่อนอยู่ เป็นต้น
นายนิพนธ์ ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ช่วยให้แนวปะการังฟื้นตัวเองได้ตามธรรมชาติ โดยลดปัจจัยที่เกิดจากการรบกวนโดยมนุษย์ เช่น กิจกรรมที่ก่อให้เกิดตะกอนคลุ้งกระจายมาปกคลุมปะการัง เดินเหยียบย่ำปะการัง แต่เท่าที่ทราบและเคยไปคุยด้วย ชาวบ้านบริเวณอ่าวกุ้ง เขาภูมิใจกับแนวปะการังที่อ่าวกุ้งมาก เขาถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของเขา เขาระมัดระวังมากเรื่องการไม่เดินเหยียบย่ำรบกวนแนวปะการัง เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการขุดลอกร่องน้ำที่ทำให้ตะกอนฟุ้งกระจาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสำรวจแนวปะการังเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ได้เผยผลการสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต รวมทั้งเกาะในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรายงานว่าจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา ซึ่งได้มีการสำรวจทั้งหมด 7 สถานี เบื้องต้น พบว่าแนวปะการังในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่กรมมาสำรวจไว้เมื่อปี 2556
โดยพบว่าแนวปะการังฟื้นตัวจากสถานภาพเสียหายมาก กลับอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง 4 สถานี ได้แก่ เกาะเฮ เกาะปายู เกาะรา และเกาะแพ ส่วนที่ยังมีสถานภาพเสียหายมี 2 สถานี ได้แก่ เกาะงำ และแหลมขาด และที่มีสถานภาพเสียหายมาก 1 สถานี คือ ชายฝั่งอ่าวกุ้ง ปะการังที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.)
ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพปะการังในบริเวณนี้คือตะกอนตามธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน และลักษณะพื้นทะเลเป็นทรายปนโคลน ทำให้น้ำค่อนข้างขุ่น แนวปะการังมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และง่ายที่ตะกอนพื้นทะเลจะฟุ้งกระจายขึ้นมาทับถมบนปะการัง
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์