Admin 14 มี.ค. 2560

ตั้งระบบเตือนภัย"น้ำเน่าเสีย" แม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน จะเน่าปั๊บ..เตือนทันที!

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดทำระบบเตือนภัยและคาดการณ์คุณภาพน้ำล่วงหน้า เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์และคาดการณ์คุณภาพน้ำ

640_bf8957f6jhf5a5h85j86b

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติในแม่น้ำเจ้าพระยา 12 แห่ง และในแม่น้ำท่าจีน 6 แห่ง เพื่อเป็นการแจ้งเตือนมลพิษทางน้ำ

โดยเฉพาะการแจ้งเตือน เมื่อคุณภาพน้ำมีความผิดปกติ แต่ยังขาดระบบคาดการณ์คุณภาพน้ำที่ทำนายคุณภาพน้ำล่วงหน้า เพื่อแจ้งเตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณท้ายน้ำและใช้แก้ปัญหาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำในสภาวะฉุกเฉิน จึงไม่สามารถตอบสนองเหตุการณ์วิกฤตคุณภาพน้ำได้ทันท่วงที ทำให้ คพ. จัดทำระบบคาดการณ์คุณภาพน้ำและเตือนภัยวิกฤตคุณภาพน้ำเพิ่มเติมให้

โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และคาดการณ์คุณภาพน้ำ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารในการแจ้งเตือนภัยและแก้ปัญหาวิกฤตคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน

เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนประสบปัญหาคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและแม่น้ำท่าจีนตอนล่างที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากมาโดยตลอด

ทั้งนี้ จากผลการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษของแหล่งน้ำ พบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน มีการระบายมลพิษสูงเกินกว่าศักยภาพการฟอกตัวโดยธรรมชาติของแหล่งน้ำ

ส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพราะการฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานต้องลดการระบายมลพิษลงสู่แหล่งน้ำให้ได้ร้อยละ 44 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีนให้ได้ร้อยละ 31

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวย้ำว่า แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ยังประสบเหตุมลพิษทางน้ำบ่อยครั้ง เช่น

เหตุการณ์แม่น้ำท่าจีนเน่าเสียจากการระบายน้ำท่วมขังจากนาข้าว เมื่อปี 2543 อุบัติเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี 2550 และปี 2554 และอุบัติเหตุเรือข้าวสารล่ม เมื่อปี 2552

ซึ่งส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสียเป็นบริเวณกว้างเกิดสภาวะขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลันส่งผลให้สัตวน้ำทั้งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และที่เพาะเลี้ยงในแม่น้ำขาดอากาศและตายลงเป็นจำนวนมาก



ที่มา : http://www.nationtv.tv/main/content/social/378538588/