Admin 27 ม.ค. 2565

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องกรมเจ้าท่า ปมสร้างเขื่อนกันคลื่นร่องน้ำสะกอมทำชายหาดพัง

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องกรมเจ้าท่า กรณีชาวบ้านฟ้องสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นร่องน้ำสะกอม จนชายหาดถูกกัดเซาะเสียหายรุนแรง

1

วันนี้ (26 ม.ค. 2564) ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 1328/2565 กรณีนายสาลี มะประสิทธิ์ กับพวกรวม 3 คน ยื่นฟ้องกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพการประมงของผู้ฟ้องคดี

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้กรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

แต่วันนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนที่พิพาทของกรมเจ้าท่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่บริเวณปากร่องน้ำสะกอมเพื่อใช้ในการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือไม่ให้ถูกตะกอนทับถมช่วยให้ร่องน้ำเปิดทำให้การเดินเรือสะดวกและมีความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้ง ไม่ได้เป็นการดำเนินการให้มีผืนแผ่นดินหรือพื้นดินขึ้นใหม่กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการถมที่ดินในทะเลที่อยู่ในบังคับที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ลงวันที่ 9 ก.ย.2535 และไม่ต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามข้อ 2(6) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 63(พ.ศ. 2537) ออกตามความในพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ.2556 แม้การกัดเซาะชายฝั่งทะเลจะยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าเกิดจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอมของกรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่เพียงอย่างเดียวหาก แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นทางธรรมชาติประกอบด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอมของกรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แล้วเสร็จกรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปตลอดแนวชายฝั่ง และยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณหาดสะกอม กรณีจึงเห็นได้ว่า กรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1และอธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการติดตามฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของชายหาดสะกอมแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์