Admin 9 มี.ค. 2560

จากกองขยะพลาสติกสู่แพขยะในทะเล วิกฤติระดับโลกที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤตขยะบกสู่แพขยะในทะเล: จะแก้อย่างไร” สะท้อนวิกฤติขยะไทยโดยเฉพาะเหตุการณ์แพขยะในทะเลบริเวณจังหวัดชุมพรและอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ รวมทั้งยังเป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลกอันดับที่ 6 พร้อมข้อเสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยบนบกและขยะในทะเลแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤตขยะบกสู่แพขยะในทะเล: จะแก้อย่างไร” โดยมีวิทยากรคือ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, ดร.วิจารย์ สิมาฉายา, ผศ. ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์, นายสินชัย เทียนศิริ และ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี

thaipublica1

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขยะทะเลเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อน เพราะขยะในทะเลลอยเคลื่อนที่ผ่านไปได้ทุกประเทศ และประชากรโลกพึ่งพาอาหารจากทะเล ซึ่งปัญหาสำคัญคือ ไมโครพลาสติก หรือพลาสติกขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในทะเล เพราะมีงานวิจัยว่า ไมโครพลาสติกนี้อยู่ในแพลงตอนได้ ซึ่งแพลงตอนเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร ที่ปลาใหญ่อื่นๆ จะมากินอีกทอดหนึ่งไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็มาถึงคนที่เป็นผู้บริโภคปลาใหญ่และสัตว์ทะเลเหล่านั้น

“มีพลาสติกในร่างกายแล้วตายไหม ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน แต่ไมโครพลาสติกก็คือพลาสติกขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบทางเคมีอยู่ครบเหมือนกัน ฉะนั้น การที่มีสารเคมีสะสมอยู่ในร่างกายคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ และร่างกายย่อยพลาสติกไม่ได้ ข้อเสนอในการแก้ปัญหานี้คือ ขายถุงพลาสติกเพื่อลดการใช้ และนำขยะทะเลในสภาพเดิมนั้นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพงเป็นของพรีเมียม ไม่ใช่การแปรรูปขยะเป็นสินค้าอื่น เช่น ที่รองเท้าอดิดาสนำเชือกเอ็นในทะเลมาทำเป็นเชือกรองเท้า ซึ่งสร้างความรู้สึกเท่ที่ใครๆ ก็อยากได้” ผศ. ดร.ธรณ์กล่าว

ปี2559 ปริมาณขยะ 27 ล้านตัน

thaipublica2

ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในปี 2553 ประเทศไทยมีขยะทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งสาเหตุสำคัญคือขยะจากบนบกที่กำจัดไม่ถูกต้องหรือตกค้างสะสมแล้วรั่วไหลลงสู่ทะเล ส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยว การประมง การเดินเรือ ภาพลักษณ์ของประเทศ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สถิติปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศปี 2559 มีขยะประมาณ 27 ล้านตัน กำจัดไม่ถูกต้อง 11.69 ล้านตัน หรือร้อยละ 43 และมีขยะประมาณ 10 ล้านตัน ที่ตกค้างสะสมอยู่ในสถานที่กำจัดขยะหรือไหลลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่าจะจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพื่อลดปริมาณขยะย่อยสลายยากเหล่านี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเลพบว่ามี 23 จังหวัด มีปริมาณขยะรวมประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งขยะประมาณ 5 ล้านตันมีการจัดการไม่ถูกต้อง และมีโอกาสถูกชะพัดพาลงทะเลได้ โดยฐานข้อมูลขยะทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2558 ระบุว่า ประเภทขยะทะเลที่มากสุดคือ ถุงพลาสติกร้อยละ 13 หลอดเครื่องดื่มร้อยละ 10 ฝาพลาสติกร้อยละ 8 ภาชนะบรรจุอาหารร้อยละ 8

ดร.วิจารย์กล่าวต่อว่า มาตรฐานแก้ปัญหาในปัจจุบันคือโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ขับเคลื่อนด้วยหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีการแก้ปัญหาที่ปลายทางคือเก็บขยะในทะเลซึ่งทำได้ประมาณ 5 ล้านตันแล้ว แต่ก็ทำได้ยากมาก นอกจากนี้ก็มีมาตรการป้องกันคือ ลดการนำขยะเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ หรือบังคับให้นำขยะออกนอกพื้นที่ด้วย และยังมีแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 ที่มีแนวคิดลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยกขยะ นำขยะกลับมาใช้ซ้ำ หมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ และกำจัดขยะอย่างถูกต้องปลอดภัย

thaipublica3

พลาสติกอยู่ในห่วงโซ่อาหาร

ผศ. ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไมโครพลาสติกเป็นสิ่งที่น่ากลัว หลายคนอาจมองไม่เห็นภาพว่าพลาสติกสะสมอยูในห่วงโซ่อาหารแล้วมาถึงตัวเองได้อย่างไร แต่ลองคิดภาพง่ายๆ ว่าเกลือที่เราทานทุกวันมีไมโครพลาสติกปนอยู่ แล้วในอนาคตร่างกายจะมีสารพิษปนอยูมากแค่ไหน วันนี้ขยะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะขยะเพิ่มขึ้นตามประชากรที่มากขึ้น ทำให้ไม่ว่าเราอยู่ตรงไหนก็มองเห็นขยะ

“ข้อมูลจาก Ocean Conservatory Report ชื่อ Stemming the Tide ระบุว่า ขยะน้อยกว่า 20% มาจากกิจกรรมทางทะเล แต่มากว่า 80% มาจากกิจกรรมบนบก เพราะการจัดการขยะบนบกที่ไม่มีการคัดแยก บวกกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งขยะเดินทางไปสู่ทะเลได้เพราะมีขยะบนบกบางส่วนที่เก็บไม่ได้ และพลาสติกมูลค่าต่ำที่คนไม่ต้องการเก็บไปขาย เช่น พลาสติกคลุมอาหาร ถุง หลอด ฯลฯ” ผศ. ดร.พิชญกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคือ ห้ามทิ้งเทกองขยะ เก็บขยะให้ได้เพิ่มขึ้นเพื่อลดขยะตกค้าง ผลิตพลาสติกมูลค่าต่ำมาทำ RDF หรือ PDF แล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิง หรือนำไปเผาในระบบ mass burn หากไม่คุ้มทุน ฝึกอบรมระบบการจัดการขยะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการแปรรูปขยะเป็นพลังงานเป็นเรื่องจำเป็นในการจัดการกับขยะพลาสติก แต่การเผามีเรื่องที่ต้องระวังมากคือมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ กลิ่นเหม็น และเถ้าจากการเผา ซึ่งโมเดลในต่างประเทศที่ทำได้สำเร็จเพราะปัจจัยหลักๆ คือ มีการคัดแยกขยะ มีแรงจูงใจเชิงการเงิน มีเทคโนโลยีก้าวหน้า มีกฎหมายเข้มงวด ประชากรมีสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ราคาที่ดินสูง และห้ามใช้หลุมฝังกลบในประเทศ

เป้าหมาย zero waste

ส่วนนายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาขยะเกิดจากการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง อย่ามองว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเป็นขยะ แต่ให้มองเป็น วัตถุดิบเพราะพลาสติกทุกชนิดรีไซเคิลได้ 100% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนใช้ถุงพลาสติกเป็นที่เก็บขยะเปียกทั้งเศษอาหารและสิ่งปฏิกูล เมื่อพลาสติกเปื้อนแล้วก็ไม่มีใครอยากไปแยกออกทำให้กลายเป็นขยะ

“ไม่มีใครอยากได้ถุงพลาสติกเยอะๆ เพื่อไปสะสมหรอก แต่คนอยากได้เพราะเอาไปใส่ขยะในบ้านของตัวเอง ซึ่งต่อให้ร้านค้าไม่ให้ถุง คนก็ไปซื้อถุงดำมาใส่ขยะอยู่ดี แต่คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมถ้าเขาเห็นว่ามีทางเลือกที่ดีกว่า ไม่ใช่ถูกบังคับด้วยกฎหมาย” นายสินชัยกล่าว

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ร้ายของปัญหานี้คือการจัดการของคน ไม่ใช่พลาสติกหรือโลหะ ฉะนั้น เรื่องสำคัญที่ต้องให้ความรู้ประชาชนคือ Closed-loop Packaging ให้คนสามารบริหารจัดการขยะภายในบ้านของตัวเองได้ทุกวัน เช่น ถ้ารัฐจัดเก็บขยะเดือนละครั้ง คนก็จะเริ่มคิดมากขึ้นในการสร้างขยะในแต่ละวัน เริ่มเลือกใช้สินค้ามากขึ้น และเกิดการบริหารจัดการ”

นายสินชัยกล่าวต่อว่า วันนี้แค่คนไทยแยกขยะให้ได้ 2 ประเภท คือ ขายได้และขายไม่ได้ แล้วเขียนบอกที่ถังขยะให้ชัดเจน เชื่อได้เลยว่าขยะกลุ่มนี้จะมีคนมาจัดการให้อย่างเร็วโดยที่รัฐไม่ต้องเสียเงินเลย ถ้าทุกคน ok recycle ก็จะได้ zero waste ถ้าทุกคนอยากแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพราะต้นไม้ที่โตเร็วที่สุดคือต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมและผู้จัดการโครงการจุฬาฯ Zero Waste กล่าวว่า ขยะเป็นปัญหาที่เกิดจากการบริโภคของเรา ดังนั้นต้องแก้ปัญหาที่การบริโภค ที่ผ่านมาเราบริโภคโดยไม่คำนึงถึงปลายทางของขยะ เพราะคนไทยรักสบาย ชอบความสะดวก เช่น พฤติกรรมการกินกาแฟ ในปัจจุบันกาแฟ 1 แก้วสร้างขยะ 4-5 ชิ้น เพราะมีทั้งหลอด ทั้งแก้ว ทั้งหูหิ้ว หรือบางครั้งมีการใช้ถุงซ้อนถุงด้วย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวต้องใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วย คือ ให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้และคนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างระบบขึ้นมาช่วยสร้างให้เกิดความตระหนักรู้

คนไทยมีความงกมากกว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ดร.สุจิตรากล่าวต่อว่า ตัวอย่างโครงการลด-งดแจกถุงพลาสติกในจุฬาฯ ซึ่งทำร่วมกันร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 6 สาขาและสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยโดยช่วง 3 เดือนแรก คือ 1 พฤศจิกายน 2559 – 1 กุมภาพันธ์ 2560 ใช้มาตรการรณรงค์เชิงสมัครใจ ซื้อของน้อยไม่รับถุง หลังจากนั้นใช้มาตรการไม่แจกถุงฟรี หากใช้ต้องซื้อ 2 บาท ซึ่งผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จมากโดยช่วง 3 เดือนแรกลดการใช้ถุงได้ร้อยละ 20-40 และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาลดการใช้ถุงได้ถึงร้อยละ 90

“คนไทยมีความงกมากกว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การจ่ายเงินที่มากเกินไปจะทำให้คนยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ในกรณีนี้หากตั้งราคาถุงไว้ที่ 1 บาท คนก็จะยอมจ่ายเงินมากกว่าไม่รับถุง มนุษย์มีสิทธิและมักเรียกร้องถึงสิทธิของตัวเองจนลืมหน้าที่พลเมืองในการรักษาสิ่งแวดล้อม และลืมสิทธิของเต่า นก วาฬ และสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากขยะที่มนุษย์สร้างหรือไม่” ดร.สุจิตรากล่าว

ในช่วงท้ายของการเสวนาคณะผู้จัดการได้มอบข้อเสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยบนบกและขยะในทะเลแก่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นบทบาทของภาคีต่างๆ ประมวลเป็นข้อเสนอเชิงมาตรการ ประกอบด้วยมาตรการแก้ปัญหาขยะในทะเล มาตรการแก้ปัญหาขยะบนบก และมาตรการลดขยะพลาสติกที่ต้นทาง

ที่มา : http://thaipublica.org/2017/03/waste-in-the-sea/