Admin 11 ธ.ค. 2564

ชาวบ้าน 3 ตำบลรวมตัวจัดทัพเรือประมงพื้นบ้านค้านโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ”

ชาวบ้าน 3 ตำบลใน อ.จะนะ จ.สงขลา รวมตัวจัดทัพเรือประมงพื้นบ้านค้านโครงการ "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ" เรียกร้องยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำที่ถูกจับกุมทั้ง 37 คน ประกาศลั่นเตรียมระดมพลขึ้นไปสมทบที่กรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาล 13 ธ.ค.นี้

1

วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่บริเวณชายหาดบ้านบ่อโชน หมู่ 7 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ทางกลุ่มผู้คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งเครือข่ายจะนะถิ่น สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ รวมทั้งกลุ่มชาวประมงพื้นที่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลของโครงการ ทั้ง ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม และองค์กรอิสระต่างๆ ราว 400 คน ได้รวมตัวกันแสดงพลัง และแสดงเจตนารมณ์หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งประกาศจุดยืนหยุดเวลาเวทีรับฟังความคิดเห็น EIA ฉ้อฉล พร้อมกับการระดมเรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลหลายสิบลำ เพื่อมาแสดงพลังในครั้งนี้ด้วย แต่ไม่สามารถเคลื่อนขบวนมายังชายทะเลฝั่งที่มีการรวมตัวกันได้ เนื่องจากมรสุมคลื่นลมแรง จึงต้องจอดลอยลำอยู่ในอ่าวอีกฟาก

โดยหลังจากมีการปราศรัยทั้งจากตัวแทนชาวบ้าน และปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ ก็ได้มีการปราศรัยจาก นายมังโสด หมะเต๊ะ ผู้บริหารของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน อ.จะนะ ถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ รวมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วย และคัดค้านโครงการ รวมทั้งระบุว่าจะมีการระดมผู้นำจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีกหลายแห่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เดินทางขึ้นไปสมทบกับกลุ่มแกนนำที่ปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ ภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อร่วมกันเรียกร้อง และฟังคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้จากทางฝั่งของรัฐบาล

หลังจากนั้นได้มีการอ่านแถลงการณ์จากทัพเรือประมงพื้นบ้าน ณ ชายฝั่งทะเลจะนะ โดย น.ส.สารีด๊ะ นิยมเดชา ซึ่งใจความสำคัญได้อธิบายถึงบริบทของพื้นที่ รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนชุมชนที่เป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้านที่สำคัญของประเทศ และระบุว่ารัฐบาลกลับรวมหัวกันกับนายทุน เพื่อปล้นทรัพยากรจากชาวบ้านไปให้นายทุนทำอุตสาหกรรม ซึ่งแม้จะมีการรวมตัวเรียกร้องให้หยุดโครงการ และทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA ซึ่งรัฐบาลได้ตกลงแล้ว แต่กลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และยังคงเดินหน้าโครงการต่อไป

โดยในแถลงการณ์ฉบับนี้ได้มีการเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลรวม 4 ข้อคือ การขอทวงสัญญาจากรัฐบาลที่ตกลงเอาไว้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาหรือ SEA แบบมีส่วนร่วม ที่จะมีคณะศึกษาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และมาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

7

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อนตามข้อตกลง รวมถึงหยุดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่จะจัดขึ้นราวกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งขัดกับข้อตกลง และยังขัดต่อหลักสากล ด้วยการจัดรับฟังความเห็นไม่มีคณะกรรมการรับฟังความเห็นที่เป็นกลาง แต่จัดโดยผู้ศึกษา อีกทั้งยั้งจัดทางออนไลน์ที่คนในชุมชนจำนวนมากเข้าร่วมไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ และหากรัฐบาลยังปล่อยให้มีการจัดรับฟังความเห็นต่อไป พวกตนขอประกาศไม่ยอมรับ และถือว่าเป็นการกระทำที่ตระบัดสัตย์ของรัฐบาล

อีกทั้งรัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำผู้คัดค้าน 37 คน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ทั้งที่ชุมนุมโดยสงบ และมีเป้าหมายเพียง "ทวงคำตอบจากรัฐบาลที่ผิดคำสัญญา" และสุดท้ายคือทางกลุ่มผู้คัดค้าน และชาวบ้านในพื้นที่จะไปทวงคำสัญญาอย่างเป็นทางการ ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 และขอเชิญชวนพี่น้องทุกคนเข้าร่วมการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย

น.ส.สารีด๊ะ นิยมเดชา ผู้อ่านแถลงการณ์ ระบุด้วยว่า การทำโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ชัดเจนว่า "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ" ไม่ใช่การพัฒนา แต่คือการอ้างคำว่า "พัฒนา" เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปล้นทรัพยากร และปล้นสิทธิชุมชน นำไปตอบสนองต่อนายทุน และนักการเมืองฉ้อฉลเพียงเท่านั้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์